เมื่อวันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 เวลา 21.30 23.30 นาฬิกา นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าร่วมการประชุมข้างเคียง (Side Event) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในโอกาสการประชุมคณะ กมธ.ว่าด้วยสถานภาพสตรี (CSW) สมัยที่ 66 ภายใต้หัวข้อ หนึ่งทศวรรษของแผนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดรัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศ : รัฐสภาของเราได้ดำเนินการให้เป็นรัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศอย่างไร จัดโดยสหภาพรัฐสภา UN Women คณะผู้แทนถาวรแคนาดาประจำสหประชาชาติ และคณะผู้แทนถาวรยูกันดาประจำสหประชาชาติ โดยมี Ms. Hala Ramzy Fayez สมาชิกสภาที่ปรึกษาราชอาณาจักรบาห์เรนและรองประธานคณะ กมธ.สหภาพรัฐสภาสตรี คนที่หนึ่ง กล่าวเปิดการประชุม ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี ของแผนปฏิบัติการสำหรับรัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศ (the Plan of Action for Gender-Sensitive Parliaments GSP) และจะเปิดโอกาสให้มีการประเมินสถานะความก้าวหน้าของรัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศ รวมทั้งให้มีการแบ่งปันประสบการณ์ วิธีปฏิบัติที่ดีตลอดจนนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยการอภิปรายจะทำให้ทราบถึงการสนับสนุนประเด็น GSP ของสหภาพรัฐสภาต่อรัฐสภาในอนาคต ทั้งนี้ การประชุมแบ่งออกเป็น 4 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 การเข้าถึงตำแหน่งผู้นำในรัฐสภาของสตรี : การกำหนดและดำเนินการตามมาตรการภายในองค์กร ช่วงที่ 2 การรับรองและนำบทบัญญัติเกี่ยวกับมิติทางเพศมาปฏิบัติให้เกิดผล รวมถึงนโยบายการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ช่วงที่ 3 การกำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับครอบครัวและการดูแลเด็กในรัฐสภา และ ช่วงที่ 4 การทำงานเป็นหุ้นส่วนร่วมกับบุรุษเพื่อให้บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ
ในการนี้ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมอภิปรายในช่วงที่ 1 โดยมีใจความสำคัญว่า รัฐสภาไทยเป็นรัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศ ทั้งในระดับสมาชิกรัฐสภาและระดับข้าราชการประจำรัฐสภา จำนวนสมาชิกรัฐสภาสตรีโดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครโดยคำนึงความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง ส่วนผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาที่เป็นสตรีมีจำนวนเกือบร้อยละ 50
นอกจากนี้ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ออกข้อบังคับประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ กมธ. และข้อบังคับประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและ กมธ. ตามลำดับ โดยเฉพาะข้อบังคับฯ ของวุฒิสภามีบทบัญญัติห้ามการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาและ กมธ. ที่มีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศอย่างชัดเจน สำหรับในระดับท้องถิ่น ล่าสุดประเทศไทยมีการเลือกตั้งนายก อบจ. โดยผลการเลือกตั้งมีสตรีที่ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ. 12 คน เพิ่มจากปี 2560 ที่มีนายก อบจ. ที่เป็นสตรีเพียง 9 คน คิดเป็นร้อยละ 9.12 ของนายก อบจ. ทั้งหมด และเมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาผู้แทนราษฎรยังได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อผลักดันวาระการสมรสเท่าเทียม โดยการแก้ไขจากคำว่า หญิงและชาย เป็น บุคคลสองคน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมโดยคณะรัฐมนตรีเป็นระยะเวลา 60 วัน ท้ายสุดคือ ยังได้มีการนำหลักการความเท่าเทียมระหว่างเพศและยุวสมาชิกรัฐสภามาใช้กับการแก้ไขข้อบังคับหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภาด้วย
เครดิต : ภาพและข่าว โดยกลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|