เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2565 เวลา 09.00-12.30 นาฬิกา และเวลา 14.30-17.30 นาฬิกา (ตามเวลาประเทศไทย) นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา ได้เข้าร่วมการประชุมแบบผสมผสาน (hybrid meeting) ของคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา สมัยที่ 287 (The 287th session of the Executive Committee) ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 144 ณ นูซาดัว (จังหวัดบาหลี) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภาและผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากกรรมการบริหารฯ เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 15 คน ประกอบด้วย กรรมการบริหารฯ หรือผู้แทนฯ จาก จีน สวีเดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สเปน อัลจีเรีย ซิมบับเว เซเนกัล ยูกันดา ชิลี อุรุกวัยประธานคณะกรรมการบริหารการประชุมยุวสมาชิกรัฐสภา กรรมการบริหารฯ ที่เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากเซอร์เบีย กรีซ ไทย อุซเบกิสถาน โดยมีนาย Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พร้อมด้วยเลขาธิการสหภาพรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมด้วย ก่อนที่จะเข้าสู่วาระการประชุม H.E. Ms. Puan Maharani ประธานสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้กล่าวต้อนรับคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา โดยกล่าวว่าอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสหภาพรัฐสภา จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาเป็นโอกาสในการหารือในประเด็นต่าง ๆ เพื่อทางออก โดยหัวข้อหลักในการอภิปรายทั่วไปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบกับชุมชนระหว่างประเทศ ซึ่งสมาชิกรัฐสภามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาและต้องทำให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้น จึงหวังว่าคณะกรรมการบริหารฯ จะมีการประชุมและประสบผลสำเร็จ ณ จังหวัดบาหลี
จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาหารือเรื่องต่างๆ ตามระเบียบวาระการประชุม เริ่มต้นด้วยการพิจารณาและรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา สมัยที่ 287 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้รับฟังการนำเสนอรายงานผลกระทบของสหภาพรัฐสภา (Impact Report) โดยเลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้สรุปเกี่ยวกับรายงานการดำเนินกิจกรรมของสหภาพรัฐสภา ระหว่างปี 2017-2021 และผลกระทบของการดำเนินกิจกรรมตามเป้าหมายที่ระบุในยุทธศาสตร์สหภาพรัฐสภา จำนวน 8 เป้าหมาย ที่ประชุมฯ มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ กรรมการบริหารฯ จากจีน อุรุกวัย ชิลี อัลจีเรีย สเปน โดยที่ประชุมฯ ได้กล่าวขอบคุณเลขาธิการสหภาพรัฐสภาและเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภาที่ได้จัดทำรายงานผลกระทบการดำเนินกิจกรรมของสหภาพรัฐสภาในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน และเห็นควรให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การพัฒนาทางสังคมเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในการนี้ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการบริหารฯ ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมฯ ผ่านกระดานข้อความ (chat) โดยมีใจความสำคัญว่า ตนขอแสดงความชื่นชมเลขาธิการสหภาพรัฐสภาและทีมงานที่ได้จัดเตรียมรายงานผลกระทบของสหภาพรัฐสภา ระหว่างปี 2017-2021 ได้อย่างดีเยี่ยม รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของสหภาพรัฐสภาในฐานะองค์กรภาครัฐสภาระดับโลกที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อาทิ จำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ของสหภาพรัฐสภา การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์เผยแพร่ การประชุมเสมือนจริง รวมถึงสมาชิกรัฐสภาสตรีและยุวสมาชิกรัฐสภามีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ สหภาพรัฐสภายังบรรลุผลสำเร็จในความริเริ่มใหม่ ๆ เช่น การเปิดตัว Parliaments in a time of pandemic ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้รัฐสภาสามารถจัดการความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังดำเนินกิจกรรมขององค์กรอย่างต่อเนื่องโดยจัดการประชุมแบบเสมือนจริงและแบบกายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งประธานสหภาพรัฐสภาครั้งประวัติศาสตร์ในรูปแบบออนไลน์ในระหว่างการประชุมคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 206 และการจัดการประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ 5 (ภาคปกติ) ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ในขณะที่การแพร่ระบาดใหญ่ยังคงดำเนินอยู่ เรามีความภูมิใจที่จะกล่าวว่าสหภาพรัฐสภาได้บรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์และยังคงรักษาไว้ซึ่งความเป็นเวทีภาครัฐสภาระดับโลกเพื่อแบ่งปันข้อมูล แนวปฏิบัติที่ดี และสร้างเสริมการเจรจาระหว่างรัฐสภาทั่วโลกให้มีความแข็งแกร่งตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมาและแม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ท้ายที่สุด ตนหวังว่าการนำแผนยุทธศาสตร์สหภาพรัฐสภาฉบับใหม่มาปฏิบัติจะทำให้องค์กรเติบโตอย่างมีพลวัติในอนาคตข้างหน้า
ต่อมา ที่ประชุมฯ ได้รับฟังการนำเสนอสถานะทางการเงินของสหภาพรัฐสภา ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 โดย Ms. Cecilia Widegren กรรมการบริหารฯ จากสวีเดน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการเงินของสหภาพรัฐสภา (Sub-Committee on Finance) รวมถึงรับทราบรายงานความคืบหน้าของการระดมเงินทุนโดยความสมัครใจ รายงานการเงิน ประจำปี 2564 และรายงานของผู้สอบบัญชีภายนอก โดยสำนักงานผู้ควบคุมและตรวจสอบบัญชีแห่งอินเดีย (Office of the Comptroller and Auditor General of India: CAG) เกี่ยวกับรายงานการเงิน ประจำปี 2564 (Auditors Report) ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสหภาพรัฐสภา โดยเลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้รายงานว่ามีองค์กรที่ขอเข้าเป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์ของสหภาพรัฐสภา จำนวน 3 องค์กร ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นชอบให้สำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน โดยกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ทเวลฟ์พลัสได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการบริหารฯ เพื่อขอให้พิจารณาระงับสิทธิในการออกเสียงของรัสเซียและเบลารุส โดยที่ประชุมฯ มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ กรรมการบริหารฯ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน กรีซ ซิมบับเว อุรุกวัย ชิลี สเปน เซเนกัล โดยที่ประชุมฯ เห็นว่าสหภาพรัฐสภาควรแสดงบทบาทสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ควรเป็นเวทีให้ทั้งสองฝ่ายได้มาเจรจาเพื่อยุติสงครามและนำไปสู่สันติภาพ
ในการนี้ นางพิกุลแก้วฯ ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมฯ ผ่านกระดานข้อความ (chat) โดยมีใจความสำคัญว่า ประเทศไทยติดตามพัฒนาการสถานการณ์ในประเทศยูเครนด้วยความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นได้คุกคามสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เรายึดถือหลักการที่อยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ เราเห็นด้วยว่าการทูตและการเจรจาเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยเน้นที่ต้นเหตุของปัญหา
ในช่วงท้าย ที่ประชุมฯ ได้รับฟังรายงานสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกบางประเทศที่สหภาพรัฐสภามีข้อห่วงกังวล เช่น ปัญหาความไม่สงบหรือวิกฤตทางการเมือง การสู้รบขัดแย้งภายในประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย หรือการจัดตั้งสภาพลัดถิ่น เป็นต้น โดยประเทศที่เลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้รายงานสถานการณ์ดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริหารฯ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บูร์กินาฟาโซ เมียนมา ซูดาน ลิเบีย มาลี ตูนีเซีย เวเนซุเอลา บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เฮติ ปาเลสไตน์ กินี กินี-บิสเซา เซาท์ซูดาน ซีเรีย และเยเมน
เครดิต : ภาพและข่าว โดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|