เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2565 ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นำคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 144 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 144th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 2024 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติบาหลี (Bali International Convention Centre : BICC) นูซาดัว จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาในครั้งนี้ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 ที่เป็นพันธกรณีของประเทศสมาชิก IPU ตามธรรมนูญแห่งสหภาพรัฐสภาของคณะผู้แทนรัฐสภาไทยตามคำเชิญของรัฐสภาอินโดนีเซียและสหภาพรัฐสภา เป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา ซึ่งมีมติเห็นควรให้รัฐสภาไทยส่งคณะผู้แทนรัฐสภาเฉพาะสมาชิกรัฐสภาผู้ดำรงตำแหน่งใน IPU ที่มีความจำเป็นต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการชุดที่ตนเองรับผิดชอบเพื่อรักษาสถานภาพของไทยในเวทีรัฐสภาระหว่างประเทศระดับโลกให้มีความต่อเนื่องตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของสหภาพรัฐสภา อีกทั้งเพื่อเป็นการให้เกียรติและสนับสนุนอินโดนีเซียประเทศเจ้าภาพในฐานะประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดในอาเซียนด้วย โดยสรุปภารกิจของประธานวุฒิสภาพร้อมด้วยคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมวันแรก ดังนี้ 1. ประธานวุฒิสภาและคณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมกลุ่มอาเซียน+3 (กัมพูชาทำหน้าที่ประธานการประชุม) และการประชุมกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก (เวียดนามทำหน้าที่ประธานการประชุมแทนตูวาลู) ในเวลา 09.00 นาฬิกา และเวลา 15.30 นาฬิกา ตามลำดับ ณ ห้อง Jakarta A&B โดยที่ประชุมทั้งสองกรอบได้รับทราบว่าอินโดนีเซียจะเสนอร่างข้อมติวาระเร่งด่วน ในหัวข้อ "The role of parliament in supporting peaceful solution to Russian - Ukrainian conflict" พร้อมทั้งได้เห็นชอบให้อินโดนีเซียเป็นตัวแทนของกลุ่มฯ เข้าร่วมในคณะกรรมการยกร่างข้อมติวาระเร่งด่วนของการประชุมสมัชชาครั้งนี้ ในการนี้ คณะผู้แทนไทยได้ใช้โอกาสประชาสัมพันธ์แจ้งให้ที่ประชุมได้รับทราบว่ารัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก หรือ APPF ครั้งที่ 30 ณ สัปปายะสภาสถาน กรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนตุลาคมศกนี้ และได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกกลุ่ม APG เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย อนึ่ง Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา ได้ให้เกียรติเข้าร่วมการประชุมกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก 2. วาระการพบปะหารือทวิภาคี ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 144 2.1 ประธานวุฒิสภานำคณะฯ เข้าพบปะหารือทวิภาคีกับ Dr. Abdullah Al-Sheikh ประธานสภาที่ปรึกษา (Chairman of the Majlis Al-Shura) ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในเวลา 11.00 นาฬิกา ณ โรงแรม St. Regis Hotel, Nusa Dua โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือข้อราชการในประเด็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศกลับคืนสู่ระดับปกติในรอบกว่า 30 ปี ภายหลังจากการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และได้หารือถึงการกระชับความร่วมมือระหว่างกันในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านการค้าการลงทุน ด้านแรงงาน การท่องเที่ยว ด้านพลังงาน การศาสนาและการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านการจัดตั้งกลไกกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาระหว่างกัน โดยหวังว่าการพบปะหารือระหว่างผู้นำของรัฐสภาของไทยและซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี จะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อปูทางไปสู่ปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนระหว่างกันที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้นในอนาคต ตลอดจนนำไปสู่การต่อยอดขยายผลการดำเนินที่เป็นรูปธรรมทั้งในภาคนิติบัญญัติ รวมไปถึงฝ่ายบริหารต่อไป ในการดังกล่าว ประธานสภาที่ปรึกษาซาอุดีอาระเบียได้กล่าวเชิญให้ประธานวุฒิสภาเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียในฐานะแขกของสภาที่ปรึกษาซาอุดีอาระเบียในช่วงเวลาที่เหมาะสม 2.2 ประธานวุฒิสภานำคณะฯ เข้าพบปะหารือทวิภาคีกับ Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา ในเวลา 17.00 นาฬิกา ณ ห้อง Singaraja ศูนย์การประชุม BICC โดยการพบปะครั้งนี้ถือเป็นการพบปะกันอีกครั้งระหว่างประธานวุฒิสภา และเลขาธิการ IPU หลังจากการพบปะกันครั้งสุดท้ายในระหว่างการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 139 ณ นครเจนีวา เมื่อเดือนตุลาคม 2561 โดยประธานวุฒิสภาได้แสดงความขอบคุณที่สหภาพรัฐสภาได้สนับสนุนรัฐสภาไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และกล่าวว่าสถานการณ์ของโควิดส่งผลให้ประเทศสมาชิกจำนวนมากรวมถึงไทย ไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมครั้งสำคัญของ IPU ในปีที่ผ่านมาได้ไม่ว่าจะเป็นการประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ 5 ณ กรุงเวียนนา หรือการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 143 ณ กรุงมาดริด โดยเลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้กล่าวชื่นชมรัฐสภาไทยที่ได้มีส่วนร่วมในกิจการของ IPU อย่างแข็งขันมาในช่วง 2 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นกิจกรรมการประชุมหรือสัมมนาในภาคออนไลน์ก็ตาม โดยได้ยกตัวอย่างการปฏิบัติหน้าที่ของนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา ซึ่งได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขันและร่วมแสดงความเห็นในการประชุมออนไลน์ของคณะกรรมการบริหารฯ อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งแสดงความยินดีที่รัฐสภาไทยได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสมัชชาในครั้งนี้ เพื่อยืนยันสถานภาพและรักษาบทบาทของรัฐสภาไทยในเวที IPU ให้มีความต่อเนื่อง โดยสหภาพรัฐสภามีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนรัฐสภาไทยในด้านต่าง ๆ หลังจากความสำเร็จของ IPU ในการสนับสนุนให้ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านกลับสู่วิถีประชาธิปไตยได้อย่างราบรื่น ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมสมรรถนะของสมาชิกรัฐสภาเพื่อผลักดันวาระสำคัญของโลกให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในประเทศของตน ได้แก่ การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการส่งเสริมบทบาทของสตรีและเยาวชนในทางการเมืองให้มีความก้าวหน้า เป็นต้น 2.3 ประธานวุฒิสภานำคณะฯ เข้าพบปะหารือทวิภาคีกับ Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา ในเวลา 17.00 นาฬิกา ณ ห้อง Karangasem ศูนย์การประชุม BICC โดยการพบปะครั้งนี้ถือเป็นการพบปะกันครั้งแรกระหว่างผู้นำของรัฐสภาไทยกับประธานสหภาพรัฐสภาคนปัจจุบันซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยประเทศสมาชิกผ่านระบบการเลือกตั้งแบบออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายนปี 2563 โดยการพบปะกันครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่รัฐสภาประเทศสมาชิกจะได้สานต่อปฏิสัมพันธ์และเครือข่ายระหว่างกันผ่านการทูตรัฐสภา (parliamentary diplomacy) หลังจากได้หยุดชะงักลงในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ระดับโลกของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนวาระสำคัญเร่งด่วนระดับโลกโดยภาครัฐสภา ได้แก่ การตอบสนองต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาในครั้งนี้ด้วย โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้รับผลกระทบในระยะยาวเป็นอย่างมากจากภาวะดังกล่าว ในการดังกล่าวประธานวุฒิสภาได้กล่าวเชิญให้ประธานสหภาพรัฐสภาเดินทางไปเยือนประเทศไทยในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธาน IPU และหวังว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับประธานสหภาพรัฐสภาที่ประเทศไทยเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง
นอกจากนี้ ผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้ปฏิบัติภารกิจในการประชุมคู่ขนานต่าง ๆ ได้แก่ การประชุมคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ครั้งที่ 26 ซึ่งนางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของสหภาพรัฐสภา (Advisory Group on Health : AGH) ได้นำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบพัฒนาการล่าสุดของการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของประเทศไทยซึ่งมีแผนระยะ 4 เดือน ที่จะปรับสถานะให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น พร้อมกันนั้น นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนายังได้ปฏิบัติหน้าที่แทนนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี (Bureau of Women Parliamentarians) ครั้งที่ 47 และเข้าร่วมการประชุมสหภาพรัฐสภาสตรี (Forum of Women Parliamentarians) ครั้งที่ 33 เพื่อสะท้อนข้อเสนอแนะของไทยต่อร่างข้อมติของสหภาพรัฐสภาว่าด้วยแนวทางใหม่ของกระบวนการสันติภาพ โดยอ้างอิงถึงงานวิจัยจากประสบการณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนในการนำมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 1325 ซึ่งประเทศไทยได้นำผลจากงานวิจัยมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินการในระดับพื้นที่ตามแนวทางของตน ทั้งยังได้เน้นย้ำการคำนึงถึงบทบาทของเด็กและสตรีให้เป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จในกระบวนการเจรจาสันติภาพโดยเฉพาะในห้วงวิกฤติโควิด-19
อนึ่ง เมื่อเวลา 19.30 นาฬิกา ประธานวุฒิสภาและคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสมัชชาอย่างเป็นทางการ (inaugural ceremony) ซึ่งได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นาย Joko Widodo ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติของฝ่ายประเทศเจ้าภาพและสหภาพรัฐสภา อาทิ Dr. Puan Maharani ประธานสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา และ Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา โดยการประชุมสมัชชา IPU ครั้งที่ 144 ถือเป็นการประชุมสมัชชาครั้งที่สองในรอบ 15 ปี ที่อินโดนีเซียรับเป็นเจ้าภาพหลังจากเป็นเจ้าภาพครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2550 และในบริบทที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ การประชุมครั้งนี้จึงจัดขึ้นภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขขั้นสูงสุดของประเทศเจ้าภาพ เพื่อประกันสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 900 คน จากประเทศสมาชิกกว่า 115 ประเทศที่ลงทะเบียนเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาในครั้งนี้
เครดิต : ภาพและข่าว โดยฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 144 กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|