เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วยคณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 144 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นวันที่สอง ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติบาหลี (BICC) เขตนูซาดัว จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยการประชุมสมัชชาในครั้งนี้มียอดรวมผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 900 คน จากรัฐสภาประเทศสมาชิกที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมรวมทั้งสิ้น 113 ประเทศ
การประชุมเต็มคณะเริ่มขึ้นในเวลา 09.00 นาฬิกา ด้วยวาระของคณะมนตรีบริหาร (Governing Council) โดยมี Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา และ Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุมและเลขานุการการประชุมตามลำดับ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องต่างๆ ตามระเบียบวาระการประชุม ได้แก่ การพิจารณาคำขอสมาชิกภาพเพิ่มเติม รายงานผลงานของประธานสหภาพรัฐสภา ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา รายงานผลงานของสำนักงานเลขาธิการ IPU ในช่วงปี 2564 การพิจารณาเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสารของ IPU ระยะปี 2565 - 2569 การพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขข้อบังคับของคณะกรรมการว่าด้วยปัญหาตะวันออกกลาง (Committee on Middle East Questions) และแผนกิจกรรมการประชุมของสหภาพรัฐสภาในอนาคต
จากนั้น เมื่อเวลา 11.00 นาฬิกา ที่ประชุมได้เริ่มเข้าสู่ช่วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ในวันแรก ภายใต้หัวข้อหลัก "มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ : ระดมการดำเนินการของภาครัฐสภาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" (Getting to Zero: Mobilizing parliaments to act on climate change) โดยมี Dr. Puan Maharni ประธานสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียทำหน้าที่ประธานการประชุมสมัชชา โดยหลังจากที่ประชุมได้รับฟังการกล่าวปาฐกถานำโดย Mr. Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ และ Mr. Ban Ki-Moon อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ผ่านคลิปวีดิทัศน์ รวมถึงตัวแทนจากประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กและตัวแทนกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะโลกร้อน ที่ประชุมได้รับฟังการกล่าวถ้อยแถลงโดยหัวหน้าคณะผู้แทนระดับประธานรัฐสภา/ประธานสภา (high-level segment) ซึ่งได้รับจัดสรรเวลาสำหรับการกล่าวถ้อยแถลงประเทศละ 7 นาที
ในการดังกล่าว ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในนามคณะผู้แทนรัฐสภาไทยต่อที่ประชุมสมัชชา เมื่อเวลา 15.00 นาฬิกา มีสาระสำคัญโดยสังเขปว่า ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในสิบประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตอบสนองต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปตามพันธกรณีของไทยตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญหลายประการ อาทิ หลังจากประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและภาคขนส่งลงถึงร้อยละ 17 ได้สำเร็จตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMA) ในปี 2563 ประเทศไทยโดยนายกรัฐมนตรีของไทยได้ประกาศในที่ประชุม COP26 ณ นครกลาสโกว์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาว่า ไทยจะตั้งเป้าหมายใหม่ที่สูงขึ้นในการเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon nuetrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero emission) ในภายในปี ค.ศ. 2065 โดยใช้แผนพัฒนาประเทศภายใต้หลัก Bio-Circular-Green (BCG) เป็นแกนในการเร่งรัดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำ ผ่านมาตรการผลักดันการปรับโครงสร้างของภาคพลังงานให้มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ผ่านนโยบายส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยในการผลิตยานยนตร์พลังไฟฟ้าตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ "ประเทศไทย 4.0" โดยที่รัฐสภาไทยพร้อมให้การสนับสนุนด้านนิติบัญญัติเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังเร่งรัดการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ... ฉบับแรกของไทยซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการในภาคเอกชนมีหน้าที่ในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเมื่อร่าง พ.ร.บ. ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว คาดว่าน่าจะสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ภายในกรอบเวลา
ทั้งนี้ หากประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทย ได้รับความสนับสนุนจากนานาประเทศในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในด้านเทคโนโลยี การพัฒนาขีดความสามารถ และด้านเงินทุน จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ได้เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม ในตอนท้ายของถ้อยแถลง ประธานวุฒิสภาได้เน้นย้ำว่าสมาชิกรัฐสภาทั่วโลกควรกระชับความร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนวิกฤติจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดลอมหลังวิกฤตโควิด-19 ในการเร่งฟื้นฟูรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่มีความเข้มแข็ง สมดุลและยั่งยืน ผ่านการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่นานาประเทศทั่วโลกต่างเผชิญร่วมกัน เพื่อให้ไปตามพันธกรณีของข้อตกลงปารีส และเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของโลกใบนี้และอนุชนรุ่นหลัง
จากนั้น เมื่อเวลา 17.15 นาฬิกา ที่ประชุมสมัชชาได้ตัดเข้าสู่วาระการพิจารณาข้อเสนอหัวข้อเพื่อพิจารณาลงมติบรรจุในระเบียบวาระเร่งด่วน (emergency item) โดยมีข้อเสนอในหัวข้อเรื่องเดียวกันคือ วิกฤติการณ์ในยูเครน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ด้านสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคยุโรปและประชาคมระหว่างประเทศตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จาก 3 ประเทศ ได้แก่ ยูเครน อินโดนีเซีย และนิวซีแลนด์ โดยที่ประชุมสมัชชาได้ทำการลงมติแบบเปิดเผยด้วยการขานชื่อประเทศทีละประเทศตามลำดับตัวอักษร (role-call voting) ทั้งนี้ เนื่องจากยูเครนไม่มีผู้แทนอยู่ในที่ประชุมเพื่อนำเสนอร่างข้อมติของตน ข้อเสนอของยูเครนจึงเป็นอันว่าตกไปตามข้อบังคับการประชุมสมัชชา โดยคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ร่วมลงคะแนนสนับสนุนข้อเสนอของอินโดนีเซีย ซึ่งมีเนื้อหาส่งเสริมบทบาทของภาครัฐสภาและ IPU ในการใช้การทูตรัฐสภาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งโดยสันติวิธี และมุ่งเน้นเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ โดยไม่มีการใช้ถ้อยคำประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างรุนแรง โดยผลปรากฎว่าที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบเลือกร่างข้อมติที่เสนอโดยนิวซีแลนด์ให้เป็นระเบียบวาระเร่งด่วน ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 588 คะแนน ไม่เห็นชอบ 177 คะแนน และงดออกเสียง 245 คะแนน จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 113 ประเทศ ต่อข้อเสนอของอินโดนีเซีย ที่ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ 376 คะแนน ไม่เห็นชอบ 472 คะแนน และงดออกเสียง 162 คะแนน ทำให้ร่างข้อมติฉบับดังกล่าวจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติระเบียบวาระเร่งด่วนต่อไป
นอกจากนี้ คณะผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้เข้าร่วมการประชุมคู่ขนานในกรอบต่าง ๆ ที่สำคัญ ในวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 ดังนี้ 1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อเวลา 09.30 นาฬิกาโดยร่วมพิจารณาร่างข้อมติ หัวข้อ การยกระดับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมภาคการศึกษาในยุคแห่งการแพร่ระบาดใหญ่ (Leveraging information and communication technology (ICT) as an enabler for the education sector during the pandemic) ซึ่งผู้แทนรัฐสภาไทยได้ร่วมแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาร่างข้อมติในสาระสำคัญเกี่ยวกับการสนับสนุนทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับการศึกษาและการส่งแสริมการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและเพื่อสร้างสรรค์ทรัพยากรมนุษย์แบบใหม่ในศตวรรษที่ 21
2. นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ร่วมการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างข้อมติ ในการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เวลา 14.30 นาฬิกา โดยในช่วงแรก เป็นการกล่าวแนะนำร่างข้อมติ หัวข้อ Rethinking and reframing the approach to peace processes with a view to fostering lasting peace จาก Ms. Cecilia Widegren สมาชิกรัฐสภาสวีเดน และ Ms. Dzifa Gomashie สมาชิกรัฐสภากานา ในฐานะผู้ร่วมเสนอรายงาน (co-Rapporteurs) จากนั้น Mr. Saber Chowdhury อดีตประธานสหภาพรัฐสภา ได้รับเกียรติขึ้นกล่าวถึงความสำคัญของร่างข้อมติฉบับนี้ ซึ่งเสนอเข้ามาในช่วงเวลาที่สำคัญอันมีผลอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพของโลกในปัจจุบัน โอกาสนี้ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงให้ความเห็นต่อร่างข้อมติในภาพรวมโดยชื่นชมว่าร่างข้อมติซึ่งเน้นไปที่กระบวนการมีความหมายต่อการกำหนดทิศทางของสันติภาพโลก โดยเฉพาะความท้าทายที่มีต่อหลักการที่บัญญัติอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติที่ว่าด้วยเรื่องหลักอธิปไตย เอกราช บูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐ และหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน หากมองว่าแนวทางที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เหมาะสมในการต่อกรกับความท้าทายในวันข้างหน้า ก็สมควรที่จะกำหนดที่มั่นเพื่อสร้างโลกที่พร้อมด้วยสันติภาพสำหรับอนุชนรุ่นหลัง ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภาควรจะยังสามารถทำหน้าที่ได้แม้ว่าจะประสบกับอุปสรรคนานับประการ อาทิ COVID-19 โดยอาศัยหลักการทูตรัฐสภา (Parliamentary diplomacy) และแนวทางเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ (Human security approach) ซึ่งปรากฏในร่างข้อมติฉบับนี้เป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุสันติภาพโดยแท้จริง
3. นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาระดับสูงว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (High-Level Advisory Group on Countering Terrorism and Violent Extremism : HLAG-CTVE) ของสหภาพรัฐสภา เข้าร่วมการประชุม HLAG-CTVE ครั้งที่ 10 เมื่อเวลา 14.30 นาฬิกา โดยเป็นการเข้าร่วมเป็นครั้งแรกของผู้แทนไทย นับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับฟังการบรรยายจาก Ms. Pramila Patten ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยความรุนแรงทางเพศในภาวะความขัดแย้ง โดยให้ความเห็นว่าความรุนแรงทางเพศเป็นประเด็นหลักด้านสันติภาพและความมั่นคง ตลอดจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูสันติภาพ โดยอ้างถึงการกระชำเรา ระบบทาสทางเพศ การค้ามนุษย์ การบังคับให้มีครรภ์ การบังคับให้ทำแท้ง เป็นต้น มีส่วนที่เชื่อมโยงโดยตรงหรือโดยอ้อมไปสู่ความขัดแย้ง ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับฟังความก้าวหน้าเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเรียกร้องเพื่อภูมิภาคซาเฮล ผ่าน 3 แกน ได้แก่ คน รัฐ และภูมิภาค และ 4 ความร่วมมือ ได้แก่ การพัฒนา การศึกษา ชุมชน และความมั่นคง เพื่อให้เห็นผลลัพธ์อย่างแท้จริงผ่านโครงการซึ่งดำเนินการแบบองค์รวม ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยวิจัย ทั้งนี้ HLAG-CTVE มุ่งหวังที่จะจัดการประชุมอีก 4 รายการ ระหว่างเดือนเมษายน - พฤศจิกายน 2565 ตลอดจนการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการก่อการร้ายในระดับโลก
4. นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการอภิปราย หัวข้อ การใช้อำนาจด้านการงบประมาณของรัฐสภาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก" (Leveraging parliamentary budgeting powers for children) เมื่อเวลา 12.30 นาฬิกา จัดโดย IPU ร่วมกับ UNICEF ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังแนวคิดในการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งปกป้องสิทธิเด็ก ได้แก่ สิทธิในการไม่ถูกกีดกัน สิทธิในการดำรงชีวิตและพัฒนา เป็นต้น โดยในการอภิปราย นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา ได้กล่าวถึงประสบการณ์ของไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าในรัฐสภาได้มีคณะกรรมาธิการสามัญของทั้งสองสภาซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับเด็ก พร้อมทั้งร่วมในกระบวนการซึ่งทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดให้มีกลไกสนับสนุนทางการเงินให้แก่เด็กยากจน และกลไกที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี ซึ่งแม้ว่าไทยจะมีพัฒนาการในเรื่องเหล่านี้ แต่ไทยก็ยังคงจำเป็นที่จะต้องทำงานอย่างหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องสิทธิเด็กและขจัดความเหลื่อมล้ำให้หมดสิ้นไป นอกจากนี้ นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของ IPU ได้พบหารือนอกรอบกับ Dr. Stella Chungong ผู้อำนวยการด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ (Director of Health Security Preparedness) องค์การอนามัยโลก เมื่อเวลา 17.00 นาฬิกา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมกิจกรรม การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงด้านสาธารณสุข ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และวิกฤติด้านสาธารณสุขในอนาคต จัดโดย IPU ร่วมกับ WHO ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม 2565 ซึ่งนางสาวเพชรดาวฯ ได้รับการทาบทามให้ทำหน้าที่ผู้อภิปรายนำในกิจกรรมดังกล่าวด้วย
อนึ่ง เมื่อเวลา 13.15 นาฬิกา ประธานวุฒิสภาได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานรัฐสภา/ประธานสภา ที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 144 ณ ห้องอาหาร Kayuputih โรงแรม St. Regis Hotel, Nusa Dua
เครดิต : ภาพและข่าว โดยฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 144 กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |