เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติบาหลี (BICC) เขตนูซาดัว จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ศ.พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วยคณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 144 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นวันที่ห้า ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ดังนี้
1. การประชุมคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภา (Bureau of Women Parliamentarians) ครั้งที่ 47 เป็นวันสุดท้าย เมื่อเวลา 08.00 น. น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ปฏิบัติหน้าที่แทนนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี (โดยตำแหน่ง) ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาวาระต่อเนื่องจากการประชุมในวันแรก ประกอบด้วย การรับฟังการบรรยายจาก Ms. Pramila Patten ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยความรุนแรงทางเพศในภาวะความขัดแย้ง ร่วมกับเลขาธิการสหภาพรัฐสภา ในประเด็นของการปฏิบัติต่อสตรีโดยใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นเครื่องมืออย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอผลงานที่ผ่านมาของสหภาพรัฐสภาสตรี ในการส่งเสริมให้สตรีได้ยกระดับบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น อาทิ รายงานสตรีในรัฐสภา ประจำปี 2564 (Women in politics 2021) จัดทำโดย IPU ร่วมกับ UN Women รายงานว่าด้วยการเหยียดเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงต่อสตรีในรัฐสภาในกลุ่มประเทศแอฟริกา รวมถึงการจัดเตรียมชุดแบบสอบถามที่จะขอความร่วมมือให้รัฐสภาสมาชิกร่วมตอบในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของแผนปฏิบัติการว่าด้วยรัฐสภาที่คำนึงถึงประเด็นด้านเพศภาวะ (Plan of Action for Gender-Sensitive Parliaments) เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามแผนดังกล่าว
2. การประชุมคณะมนตรีบริหาร (Governing Council) ในวาระที่สอง ในช่วงเช้า ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในระเบียบวาระที่ยังค้างการพิจารณาต่อเนื่องจากวาระที่หนึ่งเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 65 ได้แก่ รายงานสถานะทางการเงินของ IPU ประจำปี 2564 ซึ่งนอกจากสภาพการเงินของ IPU ที่มีเสถียรภาพโดยรวมแล้ว ยังมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงเพิ่มเติมอีก ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับผู้สอบบัญชีภายใน (internal auditor) ของ IPU ที่อาจสิ้นสมาชิกภาพสมาชิกรัฐสภาในระหว่างที่ยังไม่หมดวาระ และการพิจารณาขึ้นค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติที่ทำงานให้กับของ IPU
ต่อมา ที่ประชุมได้รับทราบการรายงานสถานการณ์ของรัฐสภาสมาชิกบางประเทศ (situation of certain parliaments) ซึ่งอยู่ระหว่างไม่มีรัฐสภาทำหน้าที่อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในวิถีประชาธิปไตย ตามที่คณะกรรมการบริหาร IPU เสนอ ประกอบด้วย อัฟกานิสถาน บูกินาฟาโซ เมียนมา และซูดาน และประเทศที่กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตทางการเมือง ได้แก่ ลิเบีย มาลี ตูนิเซีย เวเนซุเอลา ชาด กินี เอสวาตินี กินี-บิสเซา ไฮติ ปาเลสไตน์ เซาท์ซูดาน ซีเรีย และเยเมน โดยซูดานได้ถูกระงับสมาชิกภาพของ IPU เนื่องจากค้างชำระค่าบำรุงสมาชิกภาพต่อเนื่องเกิน 3 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้ สำหรับกรณีเมียนมา แม้รัฐบาลทหารจะประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2566 ก็ตาม แต่สหภาพรัฐสภาได้มีมติเปลี่ยนสถานะของเมียนมาเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของ IPU และจะยังคงรับรอง CRPH (รัฐสภาพลัดถิ่น) ของเมียนมาให้ดำรงสถานะเป็นคู่เจรจาที่ชอบธรรมของ IPU ต่อไป
จากนั้น ที่ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ ได้พิจารณาคำวินิจฉัย (decisions) ของคณะกรรมการว่าด้วย สิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (Committee on the Human Rights of Parliamentarians) ต่อกรณีข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาจากประเทศสมาชิกทั่วโลก โดยในครั้งนี้มีกรณีที่คณะกรรมการฯ ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ทั้งหมดจาก 10 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส เอกวาดอร์ อียิปต์ เอสวาตินี ลิเบีย เมียนมา ปาเลสไตน์/อิสราเอล ยูกันดา และเวเนซุเอลา โดยสำหรับกรณีเมียนมาที่มีข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภารวม 62 กรณีนั้น IPU ได้เรียกร้องให้สมัชชารัฐสภาอาเซียนหรือ AIPA ซึ่งเป็นองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศของภูมิภาคอาเซียนให้ยกระดับการดำเนินการเพื่อกดดันให้มีการเคารพหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาในเมียนมา และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสมาชิกรัฐสภาเมียนมาที่ได้รับอาณัติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2564
หลังจากนั้น ที่ประชุมได้รับฟังการรายงานจากคณะกรรมการเฉพาะด้าน (specialized bodies) ซึ่งเป็นหน่วยที่อยู่ภายใต้อาณัติของคณะมนตรีบริหารฯ รวม 8 คณะ และการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่เสนอชื่อโดยประเทศสมาชิกเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ใน IPU ที่ว่างลง โดยในการประชุมในครั้งนี้ ไม่มีตำแหน่งใดว่างลงในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ของ IPU ที่อยู่ในสัดส่วนของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก
3. ในช่วงบ่าย ที่ประชุมเต็มคณะได้เปลี่ยนเข้าสู่การพิจารณาวาระของสมัชชา (Assembly) ซึ่งที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์นูซาดัว (Nusa Dua Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการอภิปรายทั่วไปของที่ประชุมสมัชชา ว่าด้วยบทบาทของรัฐสภาในการเร่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการพัฒนากรอบกฎหมายที่เอื้อต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบเวลาที่กำหนดร่วมกันของประชาคมโลกและพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมถึงได้รับฟังรายงานจากคณะกรรมาธิการสามัญของ IPU ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้มีมติโดยฉันทานุมัติรับรองร่างข้อมติ 2 ฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจน มีมติรับรองหัวข้อที่จะจัดทำเป็นร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการสามัญทั้งสองสำหรับการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 146 ณ กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน ด้วย
ก่อนพิธีปิดการประชุม ที่ประชุมได้รับชมคลิปวีดิทัศน์ ที่ผู้แทนรัฐสภารวันดาได้นำเสนอเพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกส่งคณะผู้แทนเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 145 ณ กรุงคิกาลี ในเดือนตุลาคม 2565 และได้รับฟังคำกล่าวปิดการประชุมจากประธานกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ทั้ง 6 กลุ่ม ตามธรรมเนียมปฏิบัติของ IPU ในการนี้ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาและหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงปิดการประชุมในนามกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Geopolitical Group: APG) ตามการร้องขอของเวียดนาม ซึ่งทำหน้าที่ประธานเฉพาะกิจของกลุ่มฯ มีความว่า กลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิกขอขอบคุณและชื่นชมสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย ที่ได้ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลก รวมถึงคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ด้วยความอบอุ่นและน่าประทับใจยิ่ง และแสดงความยินดีที่ประเทศเจ้าภาพภายใต้การนำของ Dr. Puan Maharani ประธานสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศขนาดใหญ่ในช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดใหญ่ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายอยู่ ได้อย่างราบรื่นเป็นที่น่าชื่นชม และสามารถดูแลเอาใจใส่ให้ผู้เข้าร่วมการประชุมปลอดภัยและมีความมั่นใจในมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งของอินโดนีเซียตลอดระยะเวลาของการประชุม นอกจากนี้ ยังได้กล่าวชื่นชมสหภาพรัฐสภา ผ่านประธานสหภาพรัฐสภาและเลขาธิการสหภาพรัฐสภาที่มีความมุ่งมั่นและทำงานอย่างหนักในการอำนวยให้เกิดโอกาสในการสานเสวนาระหว่างประเทศสมาชิกทั่วโลก เพื่อให้มาร่วมกันปรึกษาหารือ ตัดสินใจและกำหนดท่าทีร่วมกันของภาคนิติบัญญัติ ในการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่ในวาระสำคัญของโลกในขณะนี้ โดยรัฐสภาไทยและกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิกสนับสนุน 'แถลงการณ์นูซาดัว' ว่าด้วยบทบาทของภาครัฐสภาในการร่วมมือกันเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงและเร่งด่วนที่สุดของมนุษยชาติ และพร้อมจะทำงานร่วมกับ IPU และกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ อย่างใกล้ชิดผ่านกลไกการทูตรัฐสภา เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้ประชาคมโลกสามารถบรรลุสันติภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อความผาสุกของประชาชนทุกคน
ในตอนท้าย ที่ประชุมได้รับฟังถ้อยแถลงปิดการประชุมของ Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภาและ Dr. Puan Maharani ประธานสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย ก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียในฐานะประธานสมัชชาฯ จะปิดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 144 อย่างเป็นทางการในเวลา 16.00 น.
เครดิตภาพและข่าว : ฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 144 กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |