วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 เวลา 15.00 นาฬิกา ณ สถานีกลางบางซื่อ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 (50th
National Book Fair & 20th Bangkok International Book Fair 2022)
ในการนี้ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย น.ส.โสมอุษา บูรณะเหตุ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนางจงเดือน สุทธิรัตน์ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ เฝ้ารับเสด็จฯโอกาสนี้ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เยี่ยมชมบูธนิทรรศการของสำนักงานฯ
สำหรับการจัดงานสัปดาห์หนังสือฯ จัดขึ้นระหว่าง 26 มี.ค. - 6 เม.ย. 65 ทั้งนี้ บูธหนังสือของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งอยู่ในโซนนิทรรศการ ชั้น M (ชั้นลอย) บูธ D04 โดยได้จัดนิทรรศการขึ้น ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 รางวัลพานแว่นฟ้า วรรณกรรมการเมืองเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย รางวัลพานแว่นฟ้า เป็นรางวัลที่จัดขึ้น เพื่อมอบให้แก่ผู้ชนะในการประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้นและบทกวีการเมือง โดยรัฐสภาจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพทางการเมืองผ่านทางงานเขียน รวมทั้งเพื่อสืบสานสร้างสรรค์วรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในการจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วย 6 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 บอร์ดชื่อนิทรรศการและเล่าเรื่องรางวัลพานแว่นฟ้า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า มาตั้งแต่ปี 2545 และดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี 2564 เป็นปีที่ครบรอบ 2 ทศวรรษรางวัลพานแว่นฟ้า และในปี 2565 เป็นการเดินทางเข้าสู่ทศวรรษใหม่ โดยให้ความสำคัญของวรรณกรรมว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมือง โดยใช้ศิลปะในการเขียนถ่ายทอดความรู้สึกสะท้อนภาพการเมืองและสังคม ในรูปแบบเรื่องสั้นและบทกวี
ส่วนที่ 2 บอร์ดรางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศ เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ทศวรรษ รางวัลพานแว่นฟ้า ในปี 2564 ได้มีการสรรหาวรรณกรรมที่สมควรได้รับรางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศ เป็นผลงานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า สมควรแก่การเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่าง เพื่อปลูกเร้าหรือเป็นแรงบันดาลใจแก่นักเขียนและผู้รักประชาธิปไตยในสังคมไทย มีจำนวน 10 ผลงาน
ส่วนที่ 3 บอร์ดวรรคทอง และคลิป Flash talk ประกอบด้วย วรรคทอง ของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร และศ.พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในพิธีมอบรางวัลพานแว่นฟ้า รวมถึงวรรคทองของกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า และนักเขียนผู้ที่เคยได้รับรางวัลพานแว่นฟ้า ทั้งหมดจำนวน 12 ท่าน ที่คัดคำจากคลิป Flash talk เป็นคลิปสั้น ๆ ที่แสดงทัศนะ ความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองพานแว่นฟ้าในอนาคต และความคิดเห็นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของรางวัลพานแว่นฟ้าในบทบาทเวทีส่งเสริมประชาธิปไตยของคนไทย เผยแพร่ให้ผู้ที่เข้าชมบูธนิทรรศการผ่านการฟังและการอ่าน
ส่วนที่ 4 บอร์ดจัดแสดงหนังสือพานแว่นฟ้า ปี 2545 2564 จัดแสดงหนังสือพานแว่นฟ้าเล่มจริง จำนวน 19 เล่ม และมี QR code ให้แสกนอ่านหนังสือที่เป็นไฟล์ PDF จำนวน 6 เล่ม (ปี 2559 2564) ส่วนเล่มอื่นติดเรื่องลิขสิทธิ์จึงไม่มีไฟล์ PDF ส่วนปี 2557 ยกเลิกการประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า
ส่วนที่ 5 บอร์ดถ่ายรูปฉาก สัปปายะสภาสถาน สัปปายะสภาสถาน หมายถึง สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย นำเสนอมุมมองความสวยงามของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และมีจุดถ่ายภาพด้านในบูธนิทรรศการและด้านหน้าบูธนิทรรศการเป็นฉากไดคัท สัปปายะสภาสถาน และมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ออกแบบให้สอดคล้องกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 ภายใต้แนวคิด อนาคต
ส่วนที่ 6 บอร์ดสำหรับผู้ที่เข้าชมบูธร่วมแสดงความคิดเห็น มุมมองพานแว่นฟ้าในอนาคต กิจกรรมภายในบูธนิทรรศการมีการแจกหนังสือรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2564 มือเย็น ให้กับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมภายในบูธ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายวันละ 100 เล่ม โดยการลงทะเบียนเพื่อขอรับหนังสือ และร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านตัวอักษร ในหัวข้อ มุมมองพานแว่นฟ้าในอนาคต โดยเขียนข้อความลงในโพสต์อิท แล้วนำไปติดไว้ที่บอร์ดด้านนอกฝั่งซ้ายมือ
|