วันพุธที่ 18 พฤษภาคม 2565 เวลา 15.00 นาฬิกา ณ ห้องทำงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 9 อาคารรัฐสภา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม การเปิดตัวหนังสือคู่มือรัฐสภาและเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (ชุดเครื่องมือประเมินตนเอง) ผ่าน Webinar โดย นางพรพิศ เพชรเจริญ กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม การเปิดตัวหนังสือคู่มือรัฐสภาและเป้าหมาย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนชุดเครื่องมือประเมินตนเอง ซึ่งได้แปลเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการ โดยความร่วมมือของสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ในวันนี้
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็น SMART Parliament เพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐสภาไทยในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเป้าหมายที่ 16 ความสงบสุขยุติธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภาโดยตรง ได้แก่ เป้าประสงค์ที่ 16.6 การเป็นสถาบันที่เป็นมาตรฐานเดียวกันมีประสิทธิภาพโปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกระดับ และเป้าประสงค์ที่ 16.7 การตอบสนองความครอบคลุมการเป็นตัวแทนและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดมาตรฐานให้อยู่ในระดับเดียวกันเกี่ยวข้องกับรัฐสภาโดยตรง อย่างไรก็ดี บทบาทของฝ่ายนิติบัญญัตินั้นมุ่งรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผ่านภารกิจของรัฐสภาทั้ง 4 ด้านเป็นหลัก ได้แก่ การออกกฎหมาย การกำกับตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร การพิจารณางบประมาณ และการเป็นผู้แทนของประชาชน รัฐสภาจึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG Localization) ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ขณะที่ในระดับนานาชาติ รัฐสภาไทยในฐานะสมาชิกของประชาคมรัฐสภาระหว่างประเทศอันทรงเกียรติอย่างเช่นสหภาพรัฐสภา ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในความร่วมมือระดับโลกเพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการเรียนรู้และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีร่วมกับรัฐสภานานาประเทศ ตลอดจนมุ่งมั่นในการสร้างมุมมองของภาครัฐสภาให้แก่กระบวนการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างเต็มความสามารถตลอดมา
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค ผ่านการผลักดันวาระแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีรัฐสภาระหว่างประเทศกรอบอื่น ๆ เช่นเดียวกัน ตลอดจนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในปีนี้ รัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Parliamentary Forum: APPF) ภายใต้หัวข้อ บทบาทของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่รัฐสภาจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกว่า 28 ประเทศ จะได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางที่รัฐสภาจะมีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทความท้าทายของการระบาดใหญ่ที่ทั้งโลกต่างเผชิญร่วมกัน
นับเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันในการแสดงความมุ่งมั่นของฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้มีความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด โดยเมื่อครั้งที่ดิฉันเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสนั้น คุณเรอโนได้มาร่วมแสดงความยินดีพร้อมทั้งได้กล่าวถึงการจัดทำชุดเครื่องมือภาษาไทยเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสภาทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ซึ่งจะช่วยให้การสนับสนุนภารกิจของสมาชิกรัฐสภาในมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในโอกาสที่สหภาพรัฐสภาและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้ร่วมกันจัดทำหนังสือคู่มือรัฐสภาและเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ชุดเครื่องมือประเมินตนเอง โดยได้มีการแปลเป็นภาษาไทยนั้น จึงนับเป็นก้าวที่สำคัญที่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสภาทุกคนได้เรียนรู้ เข้าใจ และสามารถนำไปปรับใช้ในการสนับสนุนภารกิจของสมาชิกรัฐสภาโดยสอดแทรกการขับเคลื่อนการดำเนินการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทั้ง 4 ภารกิจ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ขอขอบคุณ คุณมาร์ติน จุนกอง เลขาธิการสหภาพรัฐสภา และคุณเรอโน เมแยร์ รวมทั้งวิทยากรที่จะมาให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์พร้อมทั้งนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของรัฐสภาจากนานาประเทศ และขอฝากให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมุ่งมั่นตั้งใจเรียนรู้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและองค์กรของเราสืบต่อไป
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว กลุ่มงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานศูนย์ประขาคมอาเซียนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจของสมาชิกรัฐสภาในการประเมินความพร้อมต่อการมีส่วนร่วมในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนเพื่อกำหนดกลยุทธ์ กลไก และความร่วมมือเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินภารตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
|