วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสำนักประชาสัมพันธ์ ชั้น 2 อาคารรัฐสภา น.ส.โสมอุษา บูรณะเหตุ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวต้อนรับ พร้อมให้โอวาทแก่ยุวชนประชาธิปไตย ประจำปี 2565 ที่เข้ารับการอบรมในโครงการส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นพลเมืองของเยาวชนในระบอบประชาธิปไตยเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยให้ยั่งยืน กิจกรรมยุวชนประชาธิปไตย ประจำปี 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นางอัจฉรา จูยืนยง ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ กล่าวปฐมนิเทศและบรรยายเรื่อง "แนวทางการศึกษาเรียนรู้กิจกรรมยุวชนฯ ออนไลน์"
ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และทัศนคติที่ดีด้านการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระบวนการทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้เยาวชนได้ตระหนักในหน้าที่ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และการดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสถาบันนิติบัญญัติอย่างเท่าเทียม โดยมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการเป็นเครือข่ายของรัฐสภา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญ/สายอาชีพ และระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า อายุระหว่าง 15 - 20 ปี
โดยสำนักงานฯ ได้เปิดรับสมัครโดยตรง ในการเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 2 คน และตัวแทนกรุงเทพมหานคร 8 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 160 คน และกำหนดจัดการอบรมในทุกวันเสาร์ จำนวน 7 สัปดาห์ (สัปดาห์ละ 1 วัน) ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. โดยเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแบบเสมือนจริง (Virtual Meeting) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อถ่ายทอดความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคประสบการณ์ โดยหลักสูตรได้กำหนดให้มีการศึกษาองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะมีโอกาสได้ศึกษาดูงานในสถานที่สำคัญ ๆ ผ่านทางวีดิทัศน์ หรือการนำชมแบบเสมือนจริง (Virtual Tour) อาทิ รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และองค์กรอิสระ อีกทั้งยังมีการแบ่งกลุ่มระดมสมอง การถกแถลงร่วมกับวิทยากร โดยองค์ความรู้ที่จะนำไปเสริมสร้างและเผยแพร่ให้กับเยาวชน มีจำนวน 5 ชุดความรู้ ประกอบด้วย (1) การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย (2) บทบาท อำนาจ หน้าที่ของรัฐสภา และระบบงานรัฐสภา (3) การมีส่วนร่วมและการเสริมสร้างความเป็นพลเมือง (4) บทบาทของเยาวชนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (5) การสร้างเครือข่ายด้านประชาธิปไตย
เพื่อแก้ปัญหาตามโจทย์ที่กำหนด ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศของเยาวชนผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมของสถาบันนิติบัญญัติ โดยเยาวชนที่ผ่านการฝึกอบรมจะสามารถนำไปขยายผลสานต่อให้เกิดประโยชน์ต่อเยาวชนในสถาบันการศึกษาที่ตนสังกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของรัฐสภาต่อไป
|