|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสำนักงานฯ |
การประชุมคณะกรรมาธิการประสานงานด้านสมาชิกรัฐสภาสตรีในสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 30 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2565
|
วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 65 เวลา 08.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา น.ส.วิไลลักษณ์ อรินทมะพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย และน.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการประสานงานด้านสมาชิกรัฐสภาสตรีในสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในการประชุมช่วงที่ 1 น.ส.วิไลลักษณ์ อรินทมะพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยหารือร่วมกันกับที่ประชุมภายใต้หัวข้อ บทบาทของรัฐสภาในการส่งเสริมการฟื้นฟูการตอบสนองต่อประเด็นเรื่องการคำนึงถึงมิติทางเพศ ภายหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Roles of Parliaments in promoting gender-responsive recovery from the COVID-19 Pandemic) ว่าผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลอย่างรุนแรงต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือกับภาวะที่จะเกิดขึ้นภายหลังการระบาดดังกล่าว อาเซียนจึงได้กำหนดกรอบแผนการฟื้นฟู ที่เรียกว่า กรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework) โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุข เสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และส่งเสริมการพัฒนาระบบดิจิทัลที่ครอบคลุม ก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น สมาชิกรัฐสภาในฐานะตัวแทนของประชาชนรวมถึงตัวแทนของสตรี จึงจำเป็นจะต้องผลักดันประเด็นเหล่านี้เมื่อจัดทำร่างกฎหมาย
ในการประชุมช่วงที่ 2 น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย หารือร่วมกันกับที่ประชุมภายใต้หัวข้อ บทบาทของรัฐสภาในการยกระดับวาระสตรี สันติภาพและความมั่นคง (Roles of Parliaments in advancing Women, Peace and Security agenda) โดยกล่าวต่อที่ประชุมว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสนับสนุนการดำเนินการตามข้อมติ UNSCR 1325 มีสาระสำคัญ คือ วาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคง เน้นย้ำบทบาทสำคัญของสตรีในการป้องกันความขัดแย้ง ส่งเสริมสันติภาพ ผ่านแผนปฏิบัติการแห่งชาติ โดยเรียกร้องให้รัฐสมาชิกร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของสมาชิกรัฐสภาเป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคง ผ่านหน้าที่หลักสี่ประการ ได้แก่ การออกกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ การตรวจสอบและการเป็นผู้แทนประชาชน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกภาคส่วนได้รับการคุ้มครองและได้รับโอกาสในการมีชีวิตที่สงบสุขและเจริญรุ่งเรืองอย่างเท่าเทียมกัน ความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่เพียงเรื่องของความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการป้องกันความขัดแย้งอีกด้วย สตรีมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และเท่าเทียมในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก ผลการประชุมในครั้งนี้ จะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมาธิการด้านสมาชิกรัฐสภาสตรีในการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 43 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ต่อไป
เครดิต : ข่าว โดย กลุ่มงานสมัชชารัฐสภาอาเซียน สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|