วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุม 406 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา สมาชิกวุฒิสภาและเลขาธิการหน่วยประจำชาติไทยใน APPU ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วยนางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนางสาวจิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 85 และการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 51 (The 85th Council Meeting and the 51st General Assembly of APPU) ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากกรุงตาราวา สาธารณรัฐคิริบาส ระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม 2565
การประชุมในครั้งนี้ มีประเทศสมาชิก APPU เข้าร่วมการประชุม จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น หมู่เกาะมาร์แชลล์ ฟิลิปปินส์ ไทย และคิริบาส (ประเทศเจ้าภาพ) โดยมีนายโมอันนาตา ไอเอนทาก (Hon. Mr. Moannata lentaake) สมาชิกรัฐสภาคิริบาส เป็นประธานการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 51 และนายเทเรียทะ มะเว็มเว็นนิเกียกิ (Hon. Mr. Terieta Mwemwenikeaki) สมาชิกรัฐสภาคิริบาส เป็นประธานการประชุมคณะมนตรีสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 85
ในการประชุมวันแรก (13 ตุลาคม 2565) นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา สมาชิกวุฒิสภา ได้นำเสนอรายงานสถานการณ์ประเทศ (Country Report) กล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ดังนี้
(1) ด้านสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยประเทศไทยได้ยกเลิกโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงก้าวต่อไปข้างหน้าได้ดีขึ้นภายใต้สภาวะปกติ
(2) ด้านการเมือง รัฐสภาไทยเน้นย้ำการรณรงค์ บ้านเมืองสุจริต ที่มุ่งสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในความซื่อสัตย์สุจริตของทุกภาคส่วนในสังคม รวมทั้งเยาวชนและสมาชิกรัฐสภา เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและสงบสุขมากขึ้น
(3) ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุมมากขึ้น โดยส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่งคั่ง ความมั่นคง และยั่งยืน ควบคู่กับการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP)
(4) ด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจใหม่หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มากำหนดเป็นวาระแห่งชาติเพื่อบรรลุการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้สนับสนุนข้อตกลงใหม่ที่ได้รับการรับรองจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) และอยู่ในกระบวนการจัดทำกรอบแผนด้านพลังงานชาติ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065
ในช่วงท้ายของการประชุมวันแรก ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรีสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 86 และการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 52
เครดิต : ข่าวโดยกลุ่มงานสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร