วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.49 นาฬิกา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์รัฐสภา ชั้น MB1 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระองค์เดิม) มาประดิษฐาน ณ อาคารรัฐสภา โดยมี นายฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้าโหรพราหมณ์ สำนักพระราชวัง อ่านโองการ ทั้งนี้ ศ.พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา อธิบดีกรมศิลปากร คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการ ก.ร. ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และกรมศิลปากร ตลอดจนบุคลากรของทั้งสองสำนักงาน ร่วมพิธี
สำหรับแนวคิดการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เริ่มขึ้นเมื่อปี 2512 โดยนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ เลขาธิการรัฐสภา ได้มีบันทึกลงวันที่ 29 ธ.ค. 12 เสนอความเห็นต่อ พ.อ.นายวรการบัญชา ประธานรัฐสภา และ พล.ต.ศิริ สิริโยธิน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (อาคารรัฐสภา ถ.อู่ทองใน ขณะนั้น)
ต่อมา คณะรัฐมนตรีซึ่งมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 17 ดังนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 17 จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ และคณะกรรมการหาทุนสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย อย่างไรก็ตาม การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ มีความล่าช้าและไม่ต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2519 พล.อ.อ.หะริน หงสกุล ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ อีกครั้ง ต่อมาในปี 2520 พล.อ.อ.หะริน หงสกุล ขณะดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการปรับปรุงคณะกรรมการชุดต่าง ๆ โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 21 จำนวน 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะกรรมการอำนวยการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 2. คณะกรรมการหาทุนสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 3. คณะกรรมการดำเนินการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 4. คณะกรรมการประชาสัมพันธ์การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่อมา คณะกรรมการอำนวยการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ มอบหมายให้กรมศิลปากรออกแบบ เขียนแบบ และดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ บริเวณหน้าสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา กำหนดให้แล้วเสร็จวันที่ 10 ธ.ค. 23 โดยขนาดและลักษณะพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เป็นพระบรมรูปขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริงทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย สวมพระชฎามหากฐิน ปักขนนกการเวก ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ พระหัตถ์วางเหนือพระเพลาทั้งสองข้าง ผู้ออกแบบและปั้นหล่อ ประกอบด้วย 1. นายสาโรช จารักษ์ ประติมากร กองหัตถศิลปั กรมศิลปากร ผู้ออกแบบและผู้ควบคุมการปั้น 2. นายสนั่น ศิลาภรณ์ ผู้ปั้นพระบรมรูป 3. นายประเทือง ธรรมรักษ์ ผู้ปั้นพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้หล่อพระบรมรูปและส่วนประกอบของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ทั้งหมด รวมเวลาการปั้น 360 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 20 และมีการสร้างโรงงานปั้นหล่อชั่วคราวขึ้นในบริเวณรัฐสภา ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการขึ้นหุ่นพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 21 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 22 ณ รัฐสภา ถ.อู่ทองใน และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ และพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย วันที่ 10 ธ.ค. 23 และเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 62 ได้มีการประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปบูรณะ ซ่อมแซม ณ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 66 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้จัดพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระองค์เดิม) จากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร มาประดิษฐาน ณ อาคารรัฐสภา บริเวณพิพิธภัณฑ์รัฐสภา พิธีอัญเชิญพระบรมรูปฯ ขึ้นแท่นประดิษฐาน ณ บริเวณพิพิธภัณฑ์รัฐสภา อาคารรัฐสภา ในวันที่ 10 ก.พ. 66 และพิธีบวงสรวงฯ ในวันนี้ (12 ก.พ. 66)
|