วันพุธที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา ๑ พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวภายหลังการประชุมวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๘ เกี่ยวกับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ส่วนที่ ๒ ศาลรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่อง) และส่วนที่ ๓ ศาลยุติธรรม
ในส่วนของการพิจารณาส่วนที่ ๒ ศาลรัฐธรรมนูญ ภาค ๓ หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ ๒ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากการประชุมในวันอังคารที่ ๒๐ มกราคม ได้ผลสรุปดังนี้ มาตรา ๒ คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และมาตรา ๓ การดำเนินการสรรหาผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการพิจาณาและได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับวันนี้ เริ่มพิจารณาภาค ๓ ส่วนที่ ๒ ศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ ๓ ศาลยุติธรรม ส่วนที่ ๔ ศาลปกครอง สรุปผลที่เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ มีดังนี้
ส่วนที่ ๒ ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ มีการแก้ไข โดยให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญมาครบสามปีแล้ว พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แล้วให้ตุลากากรศาลรัฐธรรมนูญเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่้งให้ดำรงตำแหน่งแทน
มาตรา ๕ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และการพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
มาตรา ๖ มีการแก้ไข โดยตัดความในวรรคสุดท้ายออก
มาตรา ๗ มีการแก้ไข เพิ่มข้อความ "ศาลรัฐธรรมนูญ" และ "คดี"
มาตรา ๘ มีการแก้ไข ตัดคำว่า ตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป เพิ่มข้อความ "หรือคณะกรรมการสรรหาองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญนี้"
มาตรา ๙ ไม่มีการแก้ไข แต่มีการปรับข้อความให้กะทัดรัดขึ้น โดยความในวรรคสุดท้ายของมาตรานีั ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติเดิมตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐
ส่วนที่ ๓ ศาลยุติธรรม มี ๔ มาตรา มีการปรับข้อความในวรรคสองของมาตรา ๒ โดยคดีที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาก่อน ซึ่งในประเด็นดังกล่าวยังคงรอการพิจารณาก่อน เพราะข้อความดังกล่าวต่างจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และกรรมาธิการยังมีการถกแถลงอย่างมากในประเด็นนี้ แต่เดิมนั้น คดีที่เข้าสู่ศาลฎีกาหากศาลไม่รับพิจารณาศาลต้องเขียนคำวินิจฉัย แต่ข้อความใหม่นี้ให้ศาลเขียนคำวินิจฉัยเฉพาะกรณีที่ศาลจะรับพิจารณา ซึ่งการกระทำเป็นที่ถกแถลงว่าเป็นการกระทำที่ลดภาระศาลในการเขียนคำวินิจฉัย หรือเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหาในการรับพิจารณาคดี
มาตรา ๓ ไม่มีการแก้ไข
มาตรา ๔ มีการแก้ไข ให้ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค และศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีดังต่อไปนี้
(๑) คดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ และคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่ของศาลนั้นเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี
(๒) คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน
(๓) คดีชำนัญพิเศษอื่น ให้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
วิธีพิจารณาและการพิพากษาคดีตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยใช้ระบบไต่สวน และเป็นไปโดยรวดเร็ว
|