วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๑.๔๐ นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา ๑ นายประชา เตรัตน์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์ พุทธชีวิน กรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ ๑ ของคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ โดยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน ๒๖,๗๐๘ คน เป็นชาย ๑๒,๑๑๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๕.๓๔ หญิง ๑๔,๓๒๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๓.๖๓ เพศทางเลือก ๒๗๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๑.๐๓ มีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้
๑. ประเด็นการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ฉบับยกร่าง พบว่าประชาชนรับรู้จากหลายช่องทาง โดยลำดับแรกเป็นการรับรู้จากโทรทัศน์อย่างเดียว ร้อยละ ๒๒.๖๒
๒. ประเด็นเกี่ยวกับเจตนารมณ์สำคัญ ๔ เรื่องของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับยกร่าง ประชาชนให้ความสำคัญโดยเรียงลำดับไว้ดังนี้
- นำสู่สันติสุข
- การเมืองโปร่งใสและสมดุล
- หนุนสังคมเป็นธรรม
- พลเมืองเป็นใหญ่
๓. ประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยลำดับแรกร้อยละ ๕๕.๙๕ เห็นว่า การเลือกตั้งควรเป็นสิทธิของประชาชน
๔. ประเด็นเกี่ยวกับที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยลำดับแรกร้อยละ ๗๗.๕ เห็นว่า ควรมีที่มาจากการได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
๕. ประเด็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยลำดับแรกร้อยละ ๖๑.๘ เห็นว่า การมีสมาชิกมาจากการแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน ๒๕๐ จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๔๕๐ คน มีความเหมาะสม
๖. ประเด็นคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยลำดับแรกร้อยละ ๖๓.๘๕ เห็นด้วยว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือ
๗. ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา โดยลำดับแรกร้อยละ ๕๗.๔๗ เห็นว่า สมาชิกวุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
๘. ประเด็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยลำดับแรกร้อยละ ๘๒.๒๕ เห็นว่า ควรมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพราะจะได้ช่วยให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องและบรรลุผล |