เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน 2566 ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วยผู้แทนรัฐสภาไทยประกอบด้วย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภา และ นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมภาครัฐสภาว่าด้วยการสานเสวนาระหว่างศาสนา (Parliamentary Conference on Interfaith Dialogue) ระหว่างวันที่ 13 15 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุม Palais des Congrès เมืองมาร์ราเกช ราชอาณาจักรโมร็อกโก โดยมีนางสาวเพ็ญแข อินทรสุวรรณ อุปทูตฯ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต เป็นที่ปรึกษาคณะผู้แทนรัฐสภาไทย
การอภิปรายย่อย แทร็ค 2 ด้านสันติภาพและการให้ทุกคนมีส่วนร่วม หัวข้อ การส่งเสริมความไว้วางใจและการยอมรับร่วมกัน: การมีส่วนร่วมของผู้แสดงบทบาททางศาสนาและสมาชิกรัฐสภาในการต่อต้านคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง การยุยงให้เกิดการใช้ความรุนแรง และสิ่งท้าทายทางดิจิทัลต่อประชาธิปไตย (Promoting trust and mutual recognition: Contributions of religious actors and parliamentarians to counter hate speech, incitement to violence and digital challenges to democracy) ระหว่างเวลา 9.00 - 11.00 น. โดยพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อนี้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในสังคมของเรา ซี่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและโลกของเราทั้งในด้านบวกและด้านลบ การเพิ่มขึ้นของข้อมูลที่บิดเบือน คำพูดแสดงความเกลียดชัง และการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังหรือความรุนแรงบนอินเทอร์เน็ต ส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่สงบสุขของเรา และความไว้วางใจในระบอบประชาธิปไตยเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ การเร่งสร้างความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่มด้วยเครื่องมือที่สำคัญเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วนในทุกระดับ
การจัดการกับความท้าทายเหล่านี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสำคัญ รัฐธรรมนูญของไทยห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่าง รวมถึงความเชื่อทางศาสนา ทุกคนมีสิทธิที่จะปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามหลักการของศาสนาของตนได้อย่างอิสระ ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวต้องไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ และไทยมีนโยบายระดับชาติและแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
พวกเราสมาชิกรัฐสภาต้องก้าวให้ทันกับการเพิ่มขึ้นของสื่อดิจิทัลโดยการพัฒนานโยบายทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลและการฝึกอบรมการรับมือข้อมูลที่บิดเบือนสำหรับคนทุกวัย เพื่อต่อสู้กับอุดมการณ์ที่ไม่ยอมรับความแตกต่าง และควบคุมคำพูดแสดงความเกลียดชัง ที่สำคัญกว่านั้น เราทุกคนต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความไว้วางใจและการยอมรับร่วมกันระหว่างชุมชนต่าง ๆ เพื่อสังคมที่มีความครอบคลุม ความสามัคคี และใจกว้างมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับความเป็นพหุนิยม ความหลากหลาย และเคารพในสิทธิและให้เกียรติทุกคน
เครดิต : ภาพและข่าว โดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |