เมื่อวันที่ 6 - 8 ก.ค. 66 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดย ผศ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา พร้อมด้วยนางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการสัมมนาระหว่างภูมิภาคว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาครัฐสภาและการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติ ครั้งที่ 5 (The Fifth Interregional Seminar on Parliamentary Capacity-building and the Further Implementation of the Sustainable Development Goals) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ท่ามกลางคณะผู้แทนรัฐสภาจากประเทศต่าง ๆ รวม 8 ประเทศ ที่ได้รับเชิญจากสภาประชาชนแห่งชาติจีน ในฐานะรัฐสภาประเทศเจ้าภาพ และสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU)
การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นในรูปแบบของการประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศ เป็นการนำเสนอภาพรวมความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่จีนดำเนินการในมิติต่าง ๆ โดยผู้แทนสภาประชาชนแห่งชาติจีน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน อีกทั้งเป็นเวทีสำหรับสมาชิกรัฐสภา ในฐานะผู้แทนของปวงชน ในการแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าของ SDGs จากแต่ละประเทศ ตลอดจนอภิปรายถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมายต่าง ๆ ที่ยังประสบกับความท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อผ่านช่วงครึ่งแรกของการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ภายในปี 2573
ในวันที่ 6 ก.ค. 66 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมพิธีเปิด ซึ่งเป็นการรับฟังบุคคลสำคัญของประเทศเจ้าภาพ คือ Mr. Shohrat Zakir รองประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน Mr. Fu Ziying รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาประชาชนแห่งชาติจีน Mr. Li Fei รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน และ Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา
จากนั้นเป็นการสัมมนา ตลอดระยะเวลา 3 วัน แบ่งเป็น 4 หัวข้อ โดยในแต่ละหัวข้อ เป็นการบรรยายเกี่ยวกับประสบการณ์ของจีนในการขับเคลื่อนการพัฒนา ดังนี้ (1) ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะหลังโควิด-19 ผ่านการตราหรือปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือล้าสมัย ไม่ทันต่อสถานการณ์ ให้สามารถปลดเปลื้องสภาพปัญหาทางการค้าต่าง ๆ ของจีน (2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีนเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสำหรับทุกคน ผ่านความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งครอบคลุม 5 ทวีปของโลก หลักการสร้างความทันสมัยของจีน (Chinese Modernization) ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อประชาชนจีนกว่า 1.4 พันล้านคนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งในทางวัตถุและวัฒนธรรมอย่างสันติ ผสมกลมกลืนกันระหว่างการพัฒนาเพื่อมนุษยชาติกับธรรมชาติ (3) การเสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตยของจีน ซึ่งเป็นการหยิบยกตัวอย่างของระบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ (Whole-process Peoples Democracy) และกรณีศึกษาของจีนในระดับรากหญ้า ณ เมืองจ้าวหยาง (Chaoyang) ในกรุงปักกิ่ง ตลอดจนวิธีการในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนจีนในระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต และการพิจารณากฎหมายใหม่ภายในเขตดังกล่าว ซึ่งมีระบบการแสดงความคิดเห็นออนไลน์และออฟไลน์ และ (4) รัฐสภากับการส่งเสริมการพัฒนาสีเขียว ซึ่งกล่าวถึงการออกกฎหมายและการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวคิดการพัฒนาสีเขียวและความสำเร็จในการสร้างอารยธรรมเกี่ยวกับระบบนิเวศ รวมถึงกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จของจีน สะท้อนว่าจีนได้ดำเนินการในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออนุชนอย่างแท้จริง
ผศ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยฯ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสัมมนาใน 4 ประเด็นข้างต้น คือ (1) การสอบถามฝ่ายจีนถึงการบริหารจัดการนโยบายรวมถึงการพิจารณากฎหมายของจีนเป็นการเฉพาะต่อความท้าทาย เช่น การแพร่ขยายของคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งจีนได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงนี้จึงมีการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่างกฎหมายความมั่นคงทางการเงิน (Financial Stability Law) ขึ้น และสภาประชาชนแห่งชาติจะได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในช่วงเดือนธันวาคม 2566 (2) การอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิด Thailand 4.0 ของไทย รวมถึงการสะท้อนหลักคิดที่เป็นประโยชน์ของจีนเกี่ยวกับการจัดสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ได้รับองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภารกิจของตน จึงควรส่งเสริมให้มีกิจกรรมเช่นนี้ต่อไป (3) การสอบถามฝ่ายจีนถึงระบบและหลักการในการคัดเลือกรายชื่อผู้สมัครเป็นผู้แทนประชาชน (Deputy) โดยทั่วไป และ (4) การนำเสนอความก้าวหน้าของการร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมโดยหยิบยกกรณีของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาระดับระหว่างประเทศและไม่ได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ ดังนั้นสมควรอย่างยิ่งที่ประเทศที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว
อนึ่ง คณะผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้งหมด มีกำหนดเข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงาน ระหว่างวันที่ 9 - 15 ก.ค. 66 ณ มณฑลยูนนานและมณฑลเจียงซู ซึ่งจะเป็นการนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการทั้งหมดของจีนเพื่อบรรลุ SDGs รวมถึงการสะท้อนผลลัพธ์ตามนโยบายต่าง ๆ ของจีนที่ได้นำเสนอตลอดห้วง 3 วันของการสัมมนา
เครดิต : ภาพและข่าวโดยสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |