คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุม AIPA Caucus ครั้งที่ 14 (14th AIPA Caucus Meeting)
ในช่วงบ่ายของวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เป็นวาระการประชุมเต็มคณะ ช่วงที่ 2 การนำเสนอรายงานประเทศในหัวข้อ การส่งเสริมนวัตกรรม การถ่ายทอด การประยุกต์ใช้และการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Promoting Innovation, Transfer, Application and Development of Science and Technology for Sustainable Growth and Development) ลำดับการนำเสนอรายงานดังกล่าวจะเรียงตามลำดับชื่อประเทศตามตัวอักษรภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน ในส่วนของไทยนั้นมีนายอนุศักดิ์ คงมาลัย สมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนรัฐสภาไทยเป็นผู้นำเสนอ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ ประเด็นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ไทยผลักดันในกรอบอาเซียน ประกอบด้วย 1. The Utilization of High Performance Computing (HPC): ไทยมีบทบาทในมิติของการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรของอาเซียนในการเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาศักยภาพของบุคลกรในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ในการสร้างนวัตกรรมใหม่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการแก้ปัญหาความท้าทายในอุตสาหกรรมของอาเซียน และการก้าวข้ามอุปสรรคทางด้านแรงงานโดยการสร้างโอกาสให้กับบุคลากรของอาเซียนในการพัฒนาทักษะ และสร้างงานที่มีผลตอบแทนสูงในระดับภูมิภาค 2. The establishment of ASEAN Network on Bio-, Circular and Green Economy (ASEAN BCG Network): ไทยนำเสนอ BCG Model เป็นทางเลือกใหม่ของอาเซียนภายใต้กรอบการฟื้นฟูระดับภูมิภาคภายหลังโควิด-19 โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้เสนอขอจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนว่าด้วย BCG Model ให้เป็นกลไกในการสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ในด้านการวิจัย พัฒนานวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาศักยภาพ 3. The Development of an ASEAN Regional Research Infrastructure Strategy (RRI): ไทยเสนอข้อริเริ่มใหม่ว่าด้วยยุทธศาสตร์การแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย ผ่านกลไก ASEAN Centre/Networks ที่มีอยู่แล้ว เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการวิจัยในการรับมือกับความท้าทายโลก การเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน โดยจะส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก การแบ่งปันองค์ความรู้และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ตลอดจนการแสวงหาความร่วมมือกับหุ้นส่วนอื่น 4. ASEAN Talent Mobility (ATM) เป็นข้อริเริ่มของไทยในปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียน ในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ผ่านรูปแบบการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ โดยได้มีการหารือเชิงนโยบายและกลไกการส่งเสริมการดำเนินงานของ ATM ในอาเซียน ทั้งนี้ที่ประชุมหารือของ Board of Advisors to COSTI (BAC) ยังได้เสนอให้จัดตั้ง Expert Group on Talent Mobility เพื่อพัฒนา Platform ในการขับเคลื่อน ATM อย่างเป็นรูปธรรม โดยวิเคราะห์ความต้องการและความสนใจของอาเซียนในการเคลื่อนย้ายบุคลากร และ/หรือ กิจกรรม/โครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้าน วทน. ของอาเซียน ไทยยังพยายามผลักดันการดำเนินความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ผ่านกลไกรูปแบบต่างๆ เช่น Enhanced Regional EU-ASEAN Dialogue Instrument (E-READI) ร่วมกับสหภาพยุโรป และ Japan-ASEAN STI Platform (JASTIP) ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งแบบหุ้นส่วนเชิงโยบาย เพื่อขับเคลื่อน ATM ผ่านกิจกรรมการพัฒนาทักษะ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการร่วมวิจัยและพัฒนาในด้านที่นำไปสู่การพัฒนาระดับภูมิภาคแบบองค์รวมและยั่งยืน
เครดิต : ภาพและข่าว โดยกลุ่มงานสมัชชารัฐสภาอาเซียน สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |