|
|
วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.พรรคภูมิใจไทย และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายทศพร นิลกำแหง นายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา และคณะ เพื่อหารือเกี่ยวกับการออกกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ควบคุมพืชกัญชงและกัญชา โดยทางสมาคมฯ เห็นว่าการที่จะนำพืชกัญชงและกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกน่าจะสายเกินไป เพราะในภาคอุตสาหกรรมนี้ได้เดินหน้าไปไกลมากแล้ว จึงต้องการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาผลักดันและสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากภาคอุตสาหกรรมให้มากที่สุด ซึ่งทางสมาคมฯ เชื่อว่าการออกกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. แยกพืชกัญชงและกัญชาออกจากกัน โดยให้พืชกัญชาเป็นพืชควบคุมพิเศษ และใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด รวมถึงมีบทลงโทษที่รุนแรง ในส่วนพืชกัญชงก็ออกกฎหมาย หรือประกาศเป็นมาตรการที่เด็ดขาดเรื่องการห้ามนำเข้าส่วนต่าง ๆ สารสกัด และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพืชดังกล่าว เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ของต่างชาติกับอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา รวมถึงเป็นการช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการของประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งหากรัฐบาลสามารถทำได้จะทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและได้รับรู้ถึงประโยชน์ของพืชทั้งสองชนิดได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยมีการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมพืชกัญชงในปี 2564 จนถึงกลางปี 2565 มีมูลค่าการตลาดมากกว่า 8 พันล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมการลงทุนของภาคเอกชนที่ได้มีการลงทุนไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะสมาคมฯ มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจกลางน้ำ หรือที่เรียกว่า "โรงงานสกัด" ที่มีขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่กว่า 10 ราย มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา พืชกัญชงเคยเป็นความหวังของภาคอุตสาหกรรมว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย โดยสำนักข่าวต่างประเทศบลูมเบิร์กเคยคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปี 2564 ว่า ตลาดพืชกัญชงของประเทศไทยนั้นจะมีมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี แต่เมื่อประเทศไทยมีการประกาศพืชกัญชาถูกถอดออกจากยาเสพติด ทำให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงทำให้ปัจจุบันธุรกิจภาคอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทางสมาคมฯ เห็นว่าการหยุดชะงักของธุรกิจภาคอุตสาหกรรมนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงต้องการเรียกร้องขอความชัดเจนจากภาครัฐ ให้ออกนโยบาย และกฎหมายที่ชัดเจน รวมถึงร่วมมือกับภาคเอกชนผลักดัน และสนับสนุนคุณประโยชน์ของพืชดังกล่าว เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เชื่อว่าพืชกัญชงและกัญชานั้นมีคุณประโยชน์มากกว่าโทษ
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ตนมีความยินดีต่อการที่สมาคมฯ มายื่นหนังสือในวันนี้ และทราบมาว่าทางสมาคมฯ ได้ไปยื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 66 ด้วย โดยจะเห็นได้ว่านี่คือผลลัพธ์จากการที่สภาใช้การเมืองเป็นตัวตั้ง หากพรรคร่วมรัฐบาลในวันนี้คิดเช่นเดียวกันกับในลักษณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง คงจะผ่านความเห็นชอบไปตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมาแล้ว และไม่เกิดสุญญากาศ ในวันนี้เนื่องจากเกิดสุญญากาศทำให้ช่อดอกและเมล็ดพันธุ์กัญชาจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศอย่างควบคุมไม่ได้ หากนับมูลค่าแล้วประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งนี่เป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งในส่วนของสมาคมฯ แต่ยังมีในส่วนที่ไม่เป็นสมาคม บริษัทต่าง ๆ และต้นน้ำคือเกษตรกรฐานรากทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบ หากกฎหมายกัญชา กัญชง สะดุดหยุดลงและกลับมาเป็นยาเสพติดอีกก็จะเกิดความเสียหาย ในขณะที่ทางประเทศในแถบยุโรปได้ปลดล็อกกัญชาแล้ว ตนคิดว่าประเทศไทยควรทบทวนและไม่ควรนำการเมืองมาเป็นตัวตั้ง แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของชาติเพราะพืชกัญชงนั้นมีประโยชน์หลายประการ ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ทางสมาคมฯ นำเรื่องนี้เสนอไปยังพรรคการเมืองทุกพรรค โดยให้เสนอถึงประโยชน์ของกัญชง วิธีป้องกัน ความเสียหาย รวมถึงยื่นให้กับพรรคฝ่ายค้านด้วยเพื่อให้ทุกพรรคการเมืองมีความเห็นไปในทำนองเดียวกัน ในการนี้ ขอให้กำลังใจกับทางสมาคมฯ ที่ได้ดำเนินธุรกิจเชิงเสี่ยงเนื่องจากผูกติดกับการเมืองที่มีความขัดแย้ง ซึ่งหมดเวลาแล้วในเรื่องการขัดแย้งทางการเมือง โดยตนจะผลักดันในเรื่องนี้ และขอเสนอให้แยกหมวดร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกเป็น 2 หมวด คือ หมวดกัญชาเพื่อการแพทย์และวิจัย และหมวดกัญชงเพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|