|
|
วันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 16.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา น.ส.ประภา เฮงไพบูลย์ พร้อมด้วย น.ส.ศรีโสภา โกฏคำลือ โฆษกคณะกมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย แถลงข่าว ผลการประชุมคณะกมธ.ว่า วันนี้ (25 ต.ค.66) ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งประกอบไปด้วยกมธ. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันคณะกมธ.เห็นว่า สถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่เกิดความรุนแรง และความซับซ้อนของปัญหาเพิ่มมากขึ้น ยากต่อการแก้ไขปัญหาตามแนวทาง และหลักเกณฑ์ที่เคยยึดถือปฏิบัติไว้เดิม ที่สำคัญคือประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถขอความช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานใด ๆ โดยที่ประชุมมีมติเห็นสมควรให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย พิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เดิมตามกรณี ดังนี้ 1. แก้ไขหลักเกณฑ์การประกาศเขตภัยหนาว จากเดิม ที่เคยกำหนดไว้ที่ 8 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกินกว่า 3 วัน ให้เป็น 15 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกินกว่า 3 วัน โดยเน้นการให้ความสำคัญกับสภาพข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีลักษณะอากาศที่แตกต่างกัน 2. กรณีบ้านที่ถูกไฟไหม้ ประชาชน เกษตรกร หรือเจ้าของสัตว์เลี้ยง แม้แต่จะมีจำนวนเพียงรายเดียวที่ได้รับความเสียหาย อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า ไฟไหม้ป่า เป็นต้น สมควรให้อยู่ในเกณฑ์ช่วยเหลือในชั้นนี้ที่ประชุมฯมีมติให้ฝ่ายเลขานุการทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ส่งข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตของคณะกมธ. เพื่อให้มีการทบทวนระเบียบและหลักเกณฑ์ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยเน้นให้มีความสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ สามารถเข้าถึงสิทธิในการให้ความช่วยเหลือ จากหน่วยงานภาครัฐได้อย่างครอบคลุมต่อไป
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|