|
|
เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฟิลิปปินส์ ในการประชุมเต็มคณะ วาระที่ 1 ด้านการเมืองและความมั่นคง ว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนางสาววิไลลักษณ์ อรินทมะพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะวาระที่ 1 ด้านการเมืองและความมั่นคง โดยผู้แทนฯ ทั้ง 2 คน ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม ซึ่งมีประเทศสมาชิก APPF จำนวน 19 ประเทศเข้าร่วมประชุมในวาระดังกล่าว โดยว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถ้อยแถลงภายใต้หัวข้อ การเสริมสร้างประสิทธิภาพของรัฐสภาเพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ (Strengthening the Capacity of Parliaments to Promote Peace and Stability) โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของการทูตแบบรัฐสภาในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความหลากหลายและมีพลวัตร รัฐสภาในฐานะเสาหลักของประชาธิปไตย มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุสันติภาพและการพัฒนาทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ สำหรับการต่างประเทศของไทย รัฐสภาไทยมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันผ่านกลไกรัฐสภา เช่น การมีบทบาทสำคัญในการให้ความเห็นชอบต่อหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ และรัฐสภาไทยมีความพยายามในการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง เช่น การปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม(International Convent on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) รวมถึงการมีส่วนร่วมในการทูตรัฐสภาทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับสันติภาพ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน โดยตระหนักถึงการพึ่งพาอาศัยกันขององค์ประกอบดังกล่าว เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย โดยมุ่งเน้นที่ความเสมอภาคและความยุติธรรมสำหรับกลุ่มเปราะบาง ความพยายามในการปรับแก้ไขกฎหมายและเพิ่มความโปร่งใสของรัฐบาล เพื่อให้มั่นใจว่ามีการใช้หลักนิติธรรมอย่างยุติธรรมและเสมอภาค นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปณิธานในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ Human Rights Council วาระปี 2568-2570 (ค.ศ. 2025-2027) ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระดับโลกของไทยและความพร้อมในการร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันผ่านการสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งเพื่อสันติภาพและความยั่งยืนต่อไป
นางสาววิไลลักษณ์ อรินทมะพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (Combatting Transnational Crimes) โดยได้กล่าวถึงบทบาทของประเทศไทยในการจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นการคุกคามความมั่นคงระดับชาติ ประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญ มีภาคการท่องเที่ยวที่เจริญรุ่งเรืองจึงมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามดังกล่าว ดังนั้นประเทศไทยจึงได้มีมาตรการและดำเนินการเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การควบคุมการเข้าเมืองอย่างเข้มงวด การเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านข่าวกรอง การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสร้างความตระหนักรู้ของชุมชน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยรัฐสภามีบทบาทสำคัญในการตรากฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านความร่วมมือด้านความมั่นคงในระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงมีส่วนร่วมในกรอบขององค์การสหประชาชาติ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการที่เป็นเอกภาพเพื่อสันติภาพและความมั่นคงระดับโลก
เครดิต : ข่าว กลุ่มงานกิจการพิเศษ สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|