|
|
วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.พรรคภูมิใจไทย รับยื่นหนังสือจาก นายชาญวิทย์ ทิพย์มณี ประธานสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่น (ประเทศไทย) เรื่อง ขอให้ช่วยเร่งรัดและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันการประกอบธุรกิจรังนกแอ่นของประเทศไทย ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก เพราะไม่มีกฎระเบียบหรือกฎหมายต่าง ๆ มารองรับ ทำให้สูญเสียโอกาสในการส่งออก รวมทั้งส่งผลเสียต่อระบบธุรกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้น สมาคมฯ จึงขอให้ช่วยเร่งรัดและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร่งด่วนในเรื่องการออกประกาศกฎกระทรวง ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เร่งรัดทบทวนดำเนินการ และการพิจารณาแนวทางในการดำเนินการประกอบกิจการบ้านนกแอ่นกินรัง เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันการจัดทำร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เก็บทำอันตราย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งรังได้ พ.ศ. .... ตามมาตรา 14 วรรคสอง และร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตให้เก็บทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าคุ้มครองที่มิใช่สัตว์น้ำ พ.ศ. .... 14 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และออกระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการประกอบการบ้านนกแอ่นกินรัง เพื่อผลักดันธุรกิจรังนกของประเทศไทยให้สามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ ทั้งนี้ การประกอบกิจการบ้านนกแอ่นกินรัง หรือคอนโดนกแอนกินรังนั้นเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วทั้งประเทศไทย และสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยผลผลิตและมูลค่าตลาดส่งออกรังนกอยู่ที่อันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่กลับไม่มีมาตรการทางกฎหมาย แนวทางหรือหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาเพื่อบังคับใช้โดยเฉพาะในการควบคุมการประกอบการบ้านนกแอ่นกินรัง หรือคอนโดนกแอ่นกินรัง ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนมายาวนาน ส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสในทางเศรษฐกิจจากปัญหาอุปสรรคดังกล่าวนอกจากจะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 แล้ว ยังมีอีก 2 หน่วยงานเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.อีก 2 ฉบับ คือกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมอนามัย ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้ในการควบคุมการประกอบกิจการบ้านรังนกแอ่นกินรัง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กรมโยธาธิการฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บหรือมีไว้ในครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะซึ่งใช้เวลานานกว่า 3 - 4 ปี ยังไม่แล้วเสร็จ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กรมอนามัย โดยคณะกรรมการสาธารณสุขได้เห็นชอบในหลักการกำหนดให้ประกอบกิจการบ้านรังนกแอ่นกินรังเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กลุ่มที่ 13 กิจการอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยกรมอนามัยในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสาธารณสุขจึงได้จัดทำร่างมาตรการในการควบคุมการประกอบกิจการบ้านรังนกแอ่นกินรัง ซึ่งอยู่ในระหว่างรอเสนอคณะกรรมการวิชาการ กรมอนามัย ในการนี้ สมาคมฯ จึงขอให้ช่วยพิจารณาเร่งรัดและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร่งด่วน
ด้าน นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กล่าวว่า เข้าใจว่าประธานสมาคมฯ เห็นว่าตนเคยมีประสบการณ์ในฐานะที่เคยเป็นผู้สัมปทานภาครัฐในสมัยหนึ่งในจังหวัดกระบี่และพังงา อีกทั้งตนมีความเข้าใจและมีความสนใจในเรื่องนกอีแอ่นประเภทกินรัง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่านกอีแอ่นประเภทกินรังเป็นนกพิเศษที่ทำลังด้วยน้ำลาย หลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจว่านกอีแอ่นและนกนางแอ่นต่างกันอย่างไร นกอีแอ่นมี พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 รองรับการรับสัมปทานทำในประเทศไทย โดยทำรวมทีเดียว อย่างกรณีภาคใต้ทำที่จังหวัดภูเก็ต หลังจากนั้นมีการแก้ไขกฎหมายโดยเปลี่ยนจากการดูแลโดยกระทรวงการคลังมาให้กระทรวงมหาดไทยดูแล โดยให้มีการแยกประมูลในแต่ละจังหวัด มี 9 จังหวัดด้วยกัน แบ่งเป็นในกลุ่มทะเลอันดามัน 4 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ฝั่งอ่าวไทยมี 4 จังหวัด ตั้งแต่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพัทลุง และอีกที่คือภาคตะวันออกที่จังหวัดตราด นี่คือเป็นเขตพื้นที่ที่กฎหมายควบคุมใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ สมาคมฯ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่านกแอ่นกินรังกับนกอีแอ่นเป็นประเภทเดียวกันหรือคนละประเภท เพราะใช้คำนำหน้านางกับอี นกนางแอ่นทำรังด้วยขยะเกาะตามสายไฟ แต่อีแอ่นทำรังด้วยน้ำลายไม่เกาะตามสายไฟ เมื่อวันนี้เป็นสัตว์คุ้มครองตาม พ.ร.บ. ประชาชนที่หันมาประกอบอาชีพนำความรู้มาจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย บริษัทใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่ซื้อรังนกนำเข้าเพราะราคาถูก วันนี้ต้องเรียกร้องให้รัฐหันมาดูว่าเหตุใดผู้ยื่นสัมปทานจึงเว้นว่างโดยอ้างว่านกมีจำนวนน้อยไม่คุ้มกับการประมูลเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ต้องเร่งดำเนินการให้สัมปทาน เพราะแต่ละจังหวัดมีการต่อสู้กันเป็นจำนวนมาก และรัฐจะได้รายได้จากการเก็บอากรหลายพันล้านในการส่งออก ทั้งจากรังนกดำ เศษรังนก มีมูลค่าการส่งออกเป็นหมื่นล้านบาท นี่คือจำนวนเงินที่จะไหลเข้าประเทศ รัฐบาลจะนิ่งเฉยไม่ได้ ขณะที่ประเทศไทยยังเป็นสุญญากาศในการสัมปทาน ซึ่งตนเห็นด้วยว่าจะต้องสนับสนุนโดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 กระทรวง คือกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากการสัมปทานเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในกรณีที่ทำบ้านนกกระทรวงมหาดไทยต้องเป็นผู้ออกกฎหมายเนื่องจากอาคารสร้างใหม่หรืออาคารดัดแปลงหรืออาคารที่นกเข้าไปในบ้านมีทั้งเข้าไปโดยธรรมชาติเมื่อเข้าไปเสร็จก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญในกรณีที่ตึกอยู่ในชุมชนอาจจะมีมูลนก และมีเสียง ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของคนในชุมชนและเกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข และเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะถือว่านกอีแอ่นเป็นนกของรัฐเป็นสัตว์คุ้มครองที่จะต้องขออนุญาต ดังนั้นทั้ง 3 กระทรวงจะต้องทำงานบูรณาการร่วมกัน ประชาชนตั้งใจประกอบอาชีพและมีตลาดรองรับอยู่แล้ว รังนกถือเป็น Soft Power ตัวจริงของประเทศไทย สร้างรายได้ได้หลายหมื่นล้าน รัฐบาลจะต้องมาจัดระเบียบการทำความสะอาดตัวอาคารการเสียภาษีโดยมีการออกหนังสือรับรอง และต้องออกระเบียบ กฎกระทรวง และมีมติคณะรัฐมนตรีในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดระเบียบบ้านรังนกเพื่อให้ถูกต้องโดยให้แต่ละคนสามารถเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง รัฐต้องเร่งออกกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อให้มีกฎหมายบังคับใช้กับพี่น้องประชาชนที่มีธุรกิจเกี่ยวกับรังนกอีแอ่นกินลังที่อยู่ในบ้านของตนเอง เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการออกระเบียบ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจรังนกอีแอ่นประเภทกินรังใน 2 กลุ่ม คือ 1) ผู้ประกอบการในเขตสัมปทานที่ชอบด้วยกฎหมาย และ 2) ผู้ประกอบการกลุ่มที่เลี้ยงรังนกอีแอ่นที่อยู่ตามบ้านพักอาศัย เพื่อให้มีกฎหมายรองรับการประกอบธุรกิจให้เป็นไปอย่างถูกต้องเป็นไปเพื่อให้สามารถส่งออกได้ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการและประเทศ
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|