|
|
วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานวิปฝ่ายค้าน และคณะ แถลงข่าว เกี่ยวกับแนวทางการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ ไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งแต่ละพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องมีมาตรการควบคุมเสียงของ สส. ในแต่ละพรรคเองน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวที่จัดทำงบประมาณเพื่อรองรับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลเพียงนโยบายเดียว และมี 3 เหตุผลที่พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ. คือ 1. การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในครั้งนี้ จะนำพาประเทศไปสู่ความเสี่ยงในด้านการคลัง ทำให้ประเทศไม่สามารถเข้าสู่ความท้าทายของโลกใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ การจัดสรรงบประมาณขาดดุลจนชนเพดานทำให้ประเทศเปราะบาง ไม่สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ 2. ละเลยการจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นในการบริหารประเทศ 3. ประเทศไม่สามารถรับมือกับการแข่งขันสูงในระดับโลกได้
ด้านนายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เช่นเดียวกัน เนื่องจาก รัฐบาลพยายามจะกู้เงินมาเพื่อจัดทำโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยมที่ใช้ในการหาเสียง โดยละเลย โครงการที่มีความจำเป็นต่อการบริหารประเทศในด้านอื่น ๆ และที่สำคัญคือแหล่งที่มาของเงิน ไม่เพียงแค่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เท่านั้น แต่ต้องใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมทั้งต้องมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาเพิ่มเพื่อให้ครบจำนวนตามโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้เสียโอกาสในการนำงบประมาณไปบริหารประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนทั้งประเทศในด้านอื่น ๆ
ขณะที่นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม กล่าวยืนยันว่า พรรคฯ มีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของรัฐบาลนี้ขาดประสิทธิภาพ ไม่สอดรับหรือตอบสนองกับปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ และรัฐบาลไม่ได้ถือประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|