|
|
วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รับยื่นหนังสือจากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อขอให้คณะ กมธ. พิจารณารวมคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย เพราะจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ตามที่คณะ กมธ. ได้ประชุมครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 67 โดยมีการแยกประเภทคดีที่มีการกระทำจากแรงจูงใจทางการเมืองเป็นคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง คือ คดีมาตรา 110 มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียของการนิรโทษกรรมโดยมีความเห็นทั้งควรรวม หรือรวมอย่างมีเงื่อนไข หรืออย่างมีเงื่อนไขหรือไม่ โดยไม่มีมติของคณะ กมธ. ไปในทางใดทางหนึ่ง เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เห็นว่าคณะ กมธ. ได้ใช้เวลาศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรมกว่า 6 เดือน ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจสถานการณ์ มากกว่า สส. ที่มิได้เป็นคณะ กมธ. ชุดนี้ ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังคดีทางการเมือง 43 ราย โดย 25 ใน 43 ราย เป็นคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมามีจำนวนคนถูกดำเนินคดี 272 คนและผู้ต้องขังทางการเมืองมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นคดีมาตรา 112 โดยการนิรโทษกรรมคดี มาตรา 112 จะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยสอดคล้องกับที่ประเทศไทยประกาศลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2025 - 2027 ในทางตรงกันข้ามการมีนักโทษทางความคิด หรือนักโทษทางการเมืองนั้นเป็นภาพลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังเกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จึงขอให้คณะ กมธ. ได้มีมติรวมคดีมาตรา 112 ในผลการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย
ด้าน น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กล่าวว่า คณะกมธ. ได้มีการให้ความคิดเห็นเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับคดีที่มีความละเอียดอ่อน และในวันนี้จะมีการพูดคุยหารือกันต่อ โดยรายงานของคณะ กมธ. เล่มนี้จะเป็นเอกสารสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าแต่ละท่านแสดงความคิดเห็นในช่วงเวลาที่ทางการเมืองกำลังเดือดร้อนอย่างไรบ้าง จึงขอให้ทุกคนช่วยกันติดตาม
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|