|
|
วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.50 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับยื่นรายชื่อจากภาคประชาชนเพื่อสนับสนุน พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 จำนวน 4,693 รายชื่อ (รวมมีประชาชนลงชื่อสนับสนุนการยกเลิกกฎหมายฯ ทั้งสิ้น 14,484 รายชื่อ) จาก ศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งเสริมพันธ์ ประธานมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และคณะ
ตลอดระยะเวลา 28 ปี ของการมี พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นกฎหมายที่ถูกบังคับใช้มานาน ไม่มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีบทบัญญัติการกำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ให้บริการทางเพศ เป็นการตีตราและเลือกปฏิบัติทำให้ผู้ประกอบอาชีพต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อน ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ การมีกฎหมายฉบับดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวคือกฎหมาย ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ประกอบอาชีพพนักงานบริการโดยสมัครใจที่เป็นเจ้าของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการ ค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ออกไปเพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีและสิทธิของพนักงานบริการ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 ภาคประชาชน ประกอบด้วย นักกิจกรรม คนทำงานด้านสิทธิความเท่าเทียมความหลากหลายทางเพศ และสิทธิของพนักงานบริการได้ริเริ่มการเสนอชื่อเพื่อเสนอยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยขณะนี้มีประชาชนลงชื่อในระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 9,797 รายชื่อ ในวันนี้ทางคณะจึงได้นำรายชื่อที่ประชาชนที่เห็นด้วยกับการยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อีกจำนวน 4,693 รายชื่อ (รวมมีประชาชนลงชื่อสนับสนุนการยกเลิกกฎหมายฯ ทั้งสิ้น 14,484 รายชื่อ) การเดินทางของการขับเคลื่อนกฎหมายสิทธิของพนักงานบริการในการยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดทางอาญากับพนักงานบริการ (Decriminalize sex worker) คือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับให้พนักงานบริการ ปลดล็อคให้อาชีพพนักงานบริการได้รับการยอมรับ และคุ้มครองในฐานะอาชีพภายใต้กฎหมายแรงงาน และเป็นอีกก้าวสำคัญของสังคมไทยที่จะเป็นบทพิสูจน์ในการยกระดับทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าสิทธิของพนักงานบริการ คือ สิทธิมนุษยชน (Sex Work Rights are Human Right)
ด้าน นายปดิพัทธ์ สันติภาดา กล่าวว่า รัฐสภาเป็นที่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด มีเพศสภาพใด มีความมุ่งหวัง หรือมีความฝันอย่างไร รัฐสภาจะรองรับทุกความฝันและทุกสิทธิของทุกคน ตนเคยอยู่ในคณะอนุ กมธ. ที่ศึกษาเรื่องนี้ การพูดคุยเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการพูดคุยในมิติศีลธรรม แต่เป็นการพูดคุยในมิติสาธารณสุข เศรษฐกิจ แรงงาน การป้องกันการค้ามนุษย์ สิทธิในการป้องกันเด็กและผู้ที่ถูกข่มขู่ ควบคุมกักขัง ไม่ว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ แต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำเรื่องนี้มาพูดกันอย่างจริงใจและพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ ไม่ปล่อยให้เรื่องศีลธรรมมาปกคลุมมิติอื่น ๆ อันนำไปสู่การหาผลประโยชน์อันมิชอบ หรือทำลายอาชีพนี้ ทั้งที่อาชีพนี้เป็นไปเพื่อการเลี้ยงปากท้อง หรือจะกระทำตามความชอบของตนเองก็ย่อมต้องทำได้
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|