|
|
วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.55 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.พรรคเพื่อไทย และคณะ รับยื่นรายชื่อจากภาคประชาชนเพื่อสนับสนุน พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 จำนวน 4,693 รายชื่อ (รวมมีประชาชนลงชื่อสนับสนุนการยกเลิกกฎหมายฯ ทั้งสิ้น 14,484 รายชื่อ) จาก ศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งเสริมพันธ์ ประธานมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และคณะ
โดยตลอดระยะเวลา 28 ปี ของการมี พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นกฎหมายที่ถูกบังคับใช้มานาน ไม่มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีบทบัญญัติการกำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ให้บริการทางเพศ เป็นการตีตราและเลือกปฏิบัติทำให้ผู้ประกอบอาชีพต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อน ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ การมีกฎหมายฉบับดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวคือกฎหมาย ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ประกอบอาชีพพนักงานบริการโดยสมัครใจที่เป็นเจ้าของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการ ค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ออกไปเพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีและสิทธิของพนักงานบริการ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 ภาคประชาชน ประกอบด้วย นักกิจกรรม คนทำงานด้านสิทธิความเท่าเทียมความหลากหลายทางเพศ และสิทธิของพนักงานบริการได้ริเริ่มการเสนอชื่อเพื่อเสนอยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยขณะนี้มีประชาชนลงชื่อในระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 9,797 รายชื่อ ในวันนี้ทางคณะจึงได้นำรายชื่อที่ประชาชนที่เห็นด้วยกับการยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อีกจำนวน 4,693 รายชื่อ (รวมมีประชาชนลงชื่อสนับสนุนการยกเลิกกฎหมายฯ ทั้งสิ้น 14,484 รายชื่อ) การเดินทางของการขับเคลื่อนกฎหมายสิทธิของพนักงานบริการในการยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดทางอาญากับพนักงานบริการ (Decriminalize sex worker) คือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับให้พนักงานบริการ ปลดล็อคให้อาชีพพนักงานบริการได้รับการยอมรับ และคุ้มครองในฐานะอาชีพภายใต้กฎหมายแรงงาน และเป็นอีกก้าวสำคัญของสังคมไทยที่จะเป็นบทพิสูจน์ในการยกระดับทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าสิทธิของพนักงานบริการ คือ สิทธิมนุษยชน (Sex Work Rights are Human Right)
น.ส. ขัตติยา สวัสดิผล กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยินดีที่จะทบทวนกฎหมายฉบับนี้ เรื่องของ SEX Worker ไม่ควรมองแต่ว่าเป็นเรื่องเซ็กซ์เท่านั้น แต่ต้องมองว่าสิ่งนี้คือสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้ หรือไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ควรจะต้องมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงกฎหมายจะต้องไม่เป็นช่องว่างในใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่จะทำให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ และกฎหมายจะต้องไม่ป้องกันสิทธิในการทำมาหากินของประชาชน ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลยินดีที่จะทบทวนการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|