|
|
วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 12.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. พรรคก้าวไกล และคณะ รับยื่นรายชื่อจากภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 จำนวน 4,693 รายชื่อ (รวมมีประชาชนลงชื่อสนับสนุนการยกเลิกกฎหมายฯ ทั้งสิ้น 14,484 รายชื่อ) จาก ศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งเสริมพันธ์ ประธานมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และคณะ
โดยตลอดระยะเวลา 28 ปี ของการมี พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นกฎหมายที่ถูกบังคับใช้มานาน ไม่มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีบทบัญญัติการกำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ให้บริการทางเพศ เป็นการตีตราและเลือกปฏิบัติทำให้ผู้ประกอบอาชีพต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อน ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ การมีกฎหมายฉบับดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวคือกฎหมาย ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ประกอบอาชีพพนักงานบริการโดยสมัครใจที่เป็นเจ้าของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการ ค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ออกไปเพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีและสิทธิของพนักงานบริการ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 ภาคประชาชน ประกอบด้วย นักกิจกรรม คนทำงานด้านสิทธิความเท่าเทียมความหลากหลายทางเพศ และสิทธิของพนักงานบริการได้ริเริ่มการเสนอชื่อเพื่อเสนอยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยขณะนี้มีประชาชนลงชื่อในระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 9,797 รายชื่อ ในวันนี้ทางคณะจึงได้นำรายชื่อที่ประชาชนที่เห็นด้วยกับการยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อีกจำนวน 4,693 รายชื่อ (รวมมีประชาชนลงชื่อสนับสนุนการยกเลิกกฎหมายฯ ทั้งสิ้น 14,484 รายชื่อ) การเดินทางของการขับเคลื่อนกฎหมายสิทธิของพนักงานบริการในการยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดทางอาญากับพนักงานบริการ (Decriminalize sex worker) คือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับให้พนักงานบริการ ปลดล็อคให้อาชีพพนักงานบริการได้รับการยอมรับ และคุ้มครองในฐานะอาชีพภายใต้กฎหมายแรงงาน และเป็นอีกก้าวสำคัญของสังคมไทยที่จะเป็นบทพิสูจน์ในการยกระดับทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าสิทธิของพนักงานบริการ คือ สิทธิมนุษยชน (Sex Work Rights are Human Right)
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้ติดตามเรื่องและพูดคุยหารือเรื่องนี้มาตลอด วันนี้ต้องขอขอบคุณมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการที่ทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง ความเป็นธรรมของกฎหมายคือจะต้องทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีสิทธิในการประกอบอาชีพของตนเอง เรื่องเพศมักเป็นเรื่องที่ถูกตีตรา และถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ผิด ต่ำช้า ไม่ถูกต้อง แต่วันนี้เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ในสังคมไทยเรามีพนักงานบริการเหล่านี้ที่เป็นผู้ที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีครอบครัวที่ต้องดูแลเลี้ยงดู ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเร่งทำให้เรื่องนี้ถูกต้อง
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|