วันศุกร์ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา ๑ พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๒๒ โดยที่ประชุมได้เชิญตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายวีระกานต์ มุสิกพงษ์ พร้อมด้วยตัวแทนจำนวน ๔ คน เข้าร่วมประชุม โดยให้ความคิดเห็นที่เป็นการส่วนตัว มิใช่เป็นมติของกลุ่มนปช. ว่าปัญหาหลักของบ้านเมืองในขณะนี้คือการไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักในการปกครองประเทศ และได้เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
๑. ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรง
๒. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ควรสังกัดพรรคการเมือง และวิธีการที่จะได้คนดีมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น รัฐควรสนับสนุนงบประมาณในการหาเสียงให้มากเพียงพอ
๓. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการทำงานที่ซับซ้อนกัน จึงควรกำหนดอำนาจหน้าที่และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจน
๔.ศาลควรยึดโยงกับภาคประชาชน และผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในศาลควรได้รับความเห็นชอบจากสภาใดสภาหนึ่ง ดังเช่นที่หลายประเทศได้กระทำกัน โดยผู้พิพากษาและศาล ต้องสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าควรมีบุคคลภายนอกให้ไปทำหน้าที่ในคณะกรรมการตุลาการ
๕.องค์กรอิสระ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ควรได้รับการตรวจสอบเหมือนเช่นองค์กรอื่น เพราะที่ผ่านมาองค์กรเหล่านี้มีความเป็นอิสระมากเกินไป และไม่เคยเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ
๖. เสนอแนวทางในการปฏิรูปประเทศในระยะสั้น ๕ ประเด็น คือ (๑) สร้างสังคมให้มีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ (๒) สร้างความปรองดองและสมานฉันท์ ความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม (๓) ขจัดการทุจริตคอรัปชั่น (๔) สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในทุกภาคส่วน และ (๕) แก้ปัญหาด้านสิ่้งแวดล้อมและพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเห็นว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คณะกรรมาธิการมาจากการแต่งตั้ง อาจจะไม่ได้มีการยึดโยงกับภาคประชาชน ดังนั้นเมื่อทำการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จึงควรทำการประชามติ เพื่อให้ประชาชนเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้การยอมรับ ซึ่งเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะต้องมีความเป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด และไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงอำนาจด้วยวิธีนอกเหนือประชาธิปไตย และควรนำหลักธรรมมาใช้ในการปกครองประเทศ สำหรับประเด็นของการนิรโทษกรรมนั้น นายวีระกานต์เห็นว่า ควรมีการนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มาร่วมชุมนุม ที่มิใช่แกนนำ เพื่อเป็นการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ในสังคม
จากนั้น ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการฯ ได้รายงานความคืบหน้าของการจัดทำรัฐธรรมนูญคณะที่ ๙ ในส่วนของภาค ๔ การปฏฺิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด ๑ การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม โดยคณะทำงานได้นำเสนอแนวทางในการปฏิรูปประเทศทั้ง ๑๓ ด้านตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้เสนอให้มีการตั้งสมัชชาพลเมืองเพื่อการปฏิรูป และคณะกรรมการสมัชชาพลเมืองเพื่อการปฏิรูป เพื่อเป็นกลไกและกระบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง |