วันอาทิตย์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๑.๑๐ นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา ๑ นายวันชัย สอนศิริ โฆษก กมธ.วิสามัญกิจการ สปช. (วิป สปช.) แถลงข่าวถึงภาพรวมของการอภิปรายร่าง รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๘ ว่าเป็นการประชุมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน นำไปสู่การแก้ปัญหาของประเทศอย่างตรงจุด และช่วยวางรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ช่วยกันนำประสบการณ์การทำงาน ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละคน ตลอดจนเสียงของประชาชนที่ได้รับฟังมาจากเวทีต่างๆ ทั่วประเทศไทย และผ่านช่องทางต่างๆ ในช่วง ๗ เดือนที่ผ่านมา มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิเคราะห์ วิจารณ์ ในประเด็นและแง่มุมต่างๆ ที่สำคัญอย่างสร้างสรรค์ นับแต่เรื่องสิทธิและเสรีภาพ ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันทางการเมือง หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยังได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปรับปรุงมาตราต่าง ๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างละเอียด ทั้ง ๔ ภาค ๑๔ หมวด ๓๑๕ มาตรา กับทางคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่สละเวลามาเข้าร่วมรับฟังการประชุมของสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วย เพื่อให้มาตราต่าง ๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำงานร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง และนำไปสู่เจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามที่ได้ตั้งใจไว้ คือ "การสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข" ตลอดจนช่วยตอบโจทย์สำคัญของประเทศ และนำประเทศออกจากวังวนของปัญหาที่เป็นข้อจำกัดสำคัญของการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา โจทย์สำคัญเหล่านี้ประกอบด้วย
- การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เหมาะสมกับสภาพของสังคมไทย
- การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมของโอกาส
- การกระจายอำนาจบริหารสู่ท้องถิ่น
- การป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบในภาครัฐและเอกชน
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน
- การพฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
- การปฏิรูประบบการคลังและการงบประมาณของประเทศ รวมทั้งการดูแลให้การใช้จ่ายเงินของภาครัฐเป็นไปอย่างคุ้มค่า
- การปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ทั้งทางด้านคน การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ในขั้นตอนต่อไป สภาปฏิรูปแห่งชาติจะได้รวบรวมข้อเสนอแนะต่าง ๆ อีกทั้งจะได้ดำเนินการเพื่อส่งคำขอแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต่อประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันเพื่อที่ทางคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะได้นำคำขอฯ ดังกล่าวไปประกอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญก่อนที่จะได้ส่งกลับมาให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเดือนสิงหาคม ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ในระหว่างที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งนั้น ทางสภาปฏิรูปแห่งชาติจะได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศและประชาชนคนไทย ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด ที่สะท้อนความต้องการ สะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมกันนั้น สภาปฏิรูปแห่งชาติจะได้เร่งดำเนินการจัดทำรายละเอียดของวาระปฏิรูป ๓๖ วาระ และวารพัฒนา ๗ วาระ ให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อทำให้แนวความคิดการปฏิรูปพัฒนาประเทศต่าง ๆ ที่ได้บรรจะไว้แล้วให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเป็นรากฐานใหม่ในการพัฒนา ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ และสร้างอนาคตให้กับลูกหลานคนไทยทุกคน ต่อไป นายวันชัย สอนศิริ กล่าวสรุปว่า "ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ได้เห็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทุกท่านใช้สิทธิในการอภิปรายอย่างทั่วถึงเป็นการทำหน้าที่อย่างเข้มงวด ทุกคนได้ศึกษารายละเอียดทุกมาตรารวม ๓๑๕ มาตรา เพื่อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก นอกจากนี้ การที่มีความเห็นที่แตกต่างระหว่างสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือแตกต่างจาก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อให้ได้มาซึ่ง รัฐธรรมนูญ ที่เหมาะสมกับประเทศไทยและเป็นประโยชน์กับประชาชนชาวไทยมากที่สุด" |