วันอังคารที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง ชั้นล่าง อาคารรัฐสภา ๑ นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คนที่สาม ได้แถลงว่ายุทธศาตร์ชาติได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งในร่างมาตรา ๑๗๙ สรุปความว่ารัฐมนตรี (ซึ่งรวมนายก และรองนายกรัฐมนตรี) ต้องดำเนินการตามกฎรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ยุทธศาสตร์ชาติ และร่างมาตรา ๒๘๔ (๑) บัญญัติให้การบริหารราชการแผ่นดิน และการจัดสรรงบประมาณต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาประเทศ จากนั้นพันตำรวจตรีดร. ยงยุทธ สาระสมบัติ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมาธิการยกร่างกฎหมายว่าด้วยยุทธศาตร์ชาติได้กล่าวเพิ่มเติมว่าตนได้อภิปรายขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๖ เมษายน ๒๕๕๘ สรุปได้ดังนี้
๑. ภาค หมวด ๒ ของกฎหมายรัฐธรรมนูญจากชื่อแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเป็น ยุทธศาสตร์ชาติและแนวนโยบายพื้่นฐาน แห่งรัฐ
๒. แก้ไขมาตรา ๗๘ ให้สอดคล้องกับชื่อหมวด
๓ ขอเพิ่มมตรา ๗๘/๑ ความว่า "รัฐต้องจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นแม่บทที่เป็นกรอบชี้นำการกำหนดนโยบายและแผนกลุ่มภารกิจระดับประเทศต่างๆ สำหรับการพัฒนาประเทศ กำหนดทิศทาง เป้าหมายหรือแนวทางการพัฒนาประเทศ การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดสรรงบประมาณ และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาของภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งมีอธิปไตยและศํกดิ์ศรีในประชาคมโลก โดยอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญครอบคุลมด้านความมั่นคงแห่งชาติทางทหาร การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม วัฒนธรรม"
ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติ จึงเป็นกรอบชี้นำสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งอธิปไตย และศักดิ์ศรีในประชาคมโลก โดยยุทธศาสตร์ชาติจะต้องครอบคุลมกลุ่มภารกิจด้านต่างๆ ที่สำคัญ และจำเป็นไว้
๔. การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ จะเริ่มจากการกำหนดเป้าประสงค์หลักของชาติ หรือผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์ความต้องการของประชาชน ความต้องการพัฒนาประเทศ การวิเคราะห์สถานการณ์ภายใน และต่างประเทศโดยยึดกรอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข ประชาชนอยู่ดีกินดี มั่นคง มั่งมีศรีสุข มีอธิปไตย และมีศักดิ์ศรีในประชาคมโลก
๕. เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติ มีผลในการปฏิบัติเชิงประจักษ์ จึงต้องมีองค์กร "ขนาดเล็ก แต่แจ๋ว" ทำหน้าที่บูรณาการแผนกลุ่มภารกิจต่าง ๆ จัดระดับความสำคัญ กำหนดเป้าหมาย กำหนดตัวชี้วัด ทำการติดตามประเมินผล ปรับแก้ยุทธวิธีให้บรรลุเป้าหมาย โดยผูกพันทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ระยะ ๒๐ ปี โดยจะมีการพิจารณาปรับปรุงตามพลวัตรของโลก ตามระยะที่เหมาะสม มิใช่เปลี่ยนรัฐบาลทีก็เปลี่ยนนโยบายที และจะเน้นการส่งเสริมมากกว่าการจับผิด ทั้งนี้เมื่อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ หรือวิสัยทัศน์ระยะ ๒๐ ปีแล้ว หลังจากนั้นพิจารณาแบ่งเป็นยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ หรือวัตถุประสงค์แห่งชาติ สำหรับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และกำหนดเป็นแผนพัฒนาด้านกลุ่มภารกิจต่าง ๆ ระยะ ๕ ปี
๖. สำหรับหน่วยงานที่จะร่วมกันบูรณาการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ชาติ จะประกอบด้วยอย่างน้อย ๕ กลุ่มคือ
- กลุ่มภาครัฐ ประกอบด้วยหน่วยงาน แผนงาน แผนเงิน แผนคนของรัฐระดับประเทศ ฯลฯ
- กลุ่มภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมสมาคมไทย
- กลุ่มภาคประชาชน มีสมาคมองค์กรส่วนท้องถิ่น
- ภาควิชาการ ตัวแทนจากที่ประชุม อธิการบดี
- ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านต่างๆ จำนวนหนึ่ง ทั้งประเภทมีประสบการณ์สูง และ "ไฟแรง"
ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ คงจะได้รับการพิจารณาด้วยดีจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นความสำคัญยิ่ง เป็นสิ่งดี มีประโยชน์ต่ออนาคตของชาติที่จะนำความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีอธิปไตย และศักดิ์ศรีในประชาคมโลกมาสู่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย
|