วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เวลา ๑๔.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๒ ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง และนางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่สอง ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกกรรมาธิการฯ ร่วมแถลงข่าวผลการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ
นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกกรรมาธิการฯ กล่าวว่าที่ประชุมได้กำหนดวาระการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในวันจันทร์ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ และวันอังคารที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๙ โดยจะมีเรื่องพิจารณาจำนวน ๕ เรื่อง ดังนี้
๑. รายงานการปฏิรูปประเทศของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เรื่อง การอนุรักษ์พลังงานโดยใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code : BEC)
๒. รายงานการปฏิรูปประเทศของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่อง ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง
๓. รายงานการปฏิรูปประเทศของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เรื่อง การปฏิรูปเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)
๔. รายงานการปฏิรูปประเทศของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง ข้อสังเกตในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
๕. รายงานการปฏิรูปประเทศของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม เรื่อง การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ (คกช.)
จากนั้นนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ ได้กล่าวถึง การปฏิรูปกิจการตำรวจว่า เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งมีจำนวน ๙ วาระ อาทิ การปฏิรูปการบริการด้านแจ้งความและสอบสวน และการปฏิรูปโรงพัก เป็นต้น โดยมี ๙ วิธีการปฏิรูป อาทิ การปฏิรูปการเข้าเวรพนักงานสอบสวน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและการบริการที่รวดเร็ว การพัฒนาบุคลากรพนักงานสอบสวน ที่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสอบสวนคดี โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน สำหรับการปฏิรูปที่ต้องใช้เวลามากนั้น ก็จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาปีเศษ เช่น การสร้างโรงพักอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การดำเนินงานของโรงพักเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งจะเกิดความเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ตลอดจนการจัดทำกฎหมายของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จำนวน ๕ ฉบับ ที่จะทำให้จำนวนคดีลดลง โดยใช้ระบบการไกล่เกลี่ยก่อนถึงโรงพักหรือที่โรงพัก เพื่อลดปริมาณงานของโรงพักลง ทั้งนี้ จะได้จัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม ๒๕๕๙
|