วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๐.๓๐ ๑๓.๐๐ นาฬิกา ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเจนีวา (CICG) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ในฐานะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี และพลอากาศเอก ธงชัย แฉล้มเขตร ได้เข้าร่วมการประชุมสหภาพ รัฐสภาสตรีครั้งที่ ๒๘ โดยนางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ได้ทำหน้าที่ผู้นำเสนอรายงานการประชุม (Rapporteur) การประชุมกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี ครั้งที่ ๔๑ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑ (นครเจนีวา) และครั้งที่ ๔๒ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ (นครเจนีวา) ต่อที่ประชุมนอกจากนี้ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ยังได้ร่วมอภิปราย ต่อร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเรื่อง การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสภาว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานและการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐาน ในบริบทของการรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Strengthening inter-parliamentary cooperation on migration and migration governance in view of the adoption of the Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration) ในหัวข้อย่อยที่ ๑ การคุ้มครองสตรีผู้โยกย้ายถิ่นจากการค้ามนุษย์และความรุนแรงในทุกรูปแบบ (Women on the move: Protection from trafficking and all forms of violence) โดยกล่าวว่า ผู้หญิงมี ความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มากที่สุด ตามรายงานของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปราม อาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ เหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนมากคือผู้หญิง โดยผู้หญิงและเด็กหญิงจะถูก ค้ามนุษย์เพื่อการแต่งงานและเป็นทาสทางเพศ ในที่นี้จึงขอยืนยันจุดยืนของคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ของไทยที่แสดงในที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๓๘ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ว่าสภานิติบัญญัติ แห่งชาติของไทยยังคงมีพันธะในการเพิ่มความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผู้อพยพ การส่งเสริมการทำให้ ผู้อพยพถูกกฎหมาย และการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับผู้อพยพโดยเฉพาะในเรื่องการค้ามนุษย์ ในระดับภูมิภาค ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็กในปี ๒๕๕๘ อนุสัญญานี้มุ่งหมายที่จะป้องกันและต่อสู้กับการค้ามนุษย์เป็นสำคัญและยังมีบทลงโทษผู้กระทำความผิด ในเรื่องการค้ามนุษย์ด้วย ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่การแก้ไขคำนิยามของคำว่า การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ใหม่ให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ถูกใช้เป็นแรงงานบังคับ เช่น แรงงานขัดหนี้ อันเกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการ หาคนทำงานที่มีราคาสูง รวมทั้งการเพิ่มโทษปรับมากขึ้นเท่านั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังได้ออก พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์เพื่อให้การพิจารณาคดีค้ามนุษย์เป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อเป็นหลักประกันว่าเหยื่อค้ามนุษย์ทุกคนจะได้รับการปกป้องภายใต้กฎหมายไทย อย่างไรก็ตาม กฎหมาย และอนุสัญญาดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาเพียงปลายเหตุ ประการสำคัญคือการลงโทษผู้กระทำ ความผิด แต่สาเหตุที่เป็นรากของปัญหาของการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่มาจากปัญหาความไม่เท่าเทียม ความยากจน การขาดโอกาสทางการศึกษา การไม่มีงานที่ดีทำ หรือแม้แต่เหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศ ต้นทาง ผู้อพยพที่เป็นสตรีจึงเป็นกลุ่มที่ถูกล่อลวงได้ง่ายที่สุดและประสบกับรูปแบบความรุนแรงที่หลากหลาย จนกลายเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ การส่งเสริมโดยใช้วิธีการทางกฎหมาย เช่น การทำให้ถูกต้องตามระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ ความร่วมมือระดับทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) จะช่วยลดจำนวนผู้อพยพที่ผิดกฎหมายลงได้อันจะส่งผลในการลดจำนวนเหยื่อค้ามนุษย์และลดจำนวน ความรุนแรงต่าง ๆ ลงด้วยเช่นกัน
|