เมื่อวันอังคารที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และหัวหน้าคณะ ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายพงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล ที่ปรึกษาด้านการเมือง การปกครอง และการบริหารจัดการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และนางพรพิศ เพชรเจริญ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมรัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์โลก (World e-Parliament Conference) ครั้งที่ ๘ เป็นวันที่สอง
โดยวาระการประชุมเวลา ๐๙.๓๐ - ๑๑.๐๐ นาฬิกา เป็นเข้าร่วมการอภิปรายในห้องย่อย ซึ่งคณะผู้แทนฯ เลือกเข้าร่วมวาระการอภิปรายในห้องสำหรับการอภิปรายด้านนโยบาย และการบริหารจัดการ หัวข้อ Listening to and responding to citizens demands ในวาระดังกล่าวจะเป็นการนำเสนอข้อมูลโดยผู้นำการอภิปรายซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐสภา สมาชิกสหภาพรัฐสภา หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ที่ประชุมร่วมกันอภิปรายแสดงความคิดเห็น ซึ่งโดยทั่วไปที่ประชุมได้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ารัฐสภาควรจะเปิดกว้างให้ ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมหรือตรวจสอบการทำงานได้อย่างสะดวกและเสรีมากยิ่งขึ้น ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์และสื่อโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายซึ่งควร จะเป็นการสื่อสารแบบสองทางเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงประชาชนและรับฟังความคิดเห็น จากประชาชนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
เวลา ๑๑.๓๐ - ๑๓.๐๐ นาฬิกา คณะผู้แทนฯ แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มเพื่อเข้าร่วมการอภิปราย ทั้งในห้องประชุมกลุ่มย่อยสำหรับการอภิปรายด้านนโยบายและการบริหารจัดการ และห้องประชุมสำหรับการอภิปรายด้านการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ หัวหน้าคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เลือกเข้าร่วมในห้อง สำหรับการอภิปรายด้านนโยบายและการบริหารจัดการ หัวข้อ Parliaments in the age of disinformation and fake newsซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวาง ถึงผลกระทบของข่าวปลอม หรือ fake news เนื่องด้วยปัจจุบันนี้การส่งต่อหรือเผยแพร่ข่าวสาร ทำได้รวดเร็วมากผ่านข่องทางโซเซียลมีเดียต่าง ๆ โดยไม่ผ่านกระบวนการคัดกรองข้อเท็จจริง ทำให้ fake news กลายเป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางได้ โดยเฉพาะบริบททางการเมือง ที่ในช่วงเลือกตั้งที่แต่ละฝ่ายจะสร้าง fake news เพื่อลดความน่าเชื่อถือของฝ่าย ตรงข้าม ดังนั้นสิ่งที่ภาคนิติบัญญัติสามารถดำเนินการเพื่อรับมือกับเรื่องดังกล่าวส่วนหนึ่งคือ การออกกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันไม่เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือไม่ทราบที่มาแน่ชัด ในขณะที่ในห้องสำหรับการอภิปรายด้านการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ มีนายพงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล ที่ปรึกษาด้านการเมือง การปกครอง และการบริหารจัดการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และนางพรพิศ เพชรเจริญ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมรับฟังการอภิปรายในหัวข้อ New developments in technology tools for parliamentarians ซึ่งเป็นการนำเสนอเครื่องมือต่าง ๆ ที่ภาครัฐสภาสามารถพัฒนาเพื่อส่งเสริมการทำงานของสมาชิกรัฐสภาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การส่งเสริมให้มีการพัฒนาการใช้ข้อมูลในรูปแบบดิจิตัลให้มากขึ้น ใช้สื่อโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ในการทำงานและสื่อสารกับประชาชนเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารแบบสองทางซึ่งทำให้ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐสภาได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังถือเป็นการลดการใช้กระดาษเพื่อการ รักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
เวลา ๑๔.๓๐ - ๑๖.๐๐ นาฬิกา คณะผู้แทนฯ ทั้งคณะ เข้าร่วมรับฟังการอภิปราย หัวข้อ New ways of working with civil society ซึ่งวาระนี้เป็นการนำเสนอตัวอย่าง นวัตกรรมที่ส่งเสริมการสื่อสารระหว่างภาครัฐสภาและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาการทำงานของ ภาครัฐสภาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตัวอย่างที่โดดเด่นคือการสร้างเว็บไซต์ในรูปแบบ ที่ทันสมัยเข้าถึงง่ายของรัฐสภาอังกฤษที่เปิดเผยและเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อมูลการ ทำงานของภาครัฐสภาได้ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความโปร่งใส ในการทำงานของภาครัฐด้วยเช่นกัน หรือรัฐสภาบางประเทศได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ ประชาชน โดยสร้างช่องทางการสื่อสารที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกันได้ หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านช่องทางโซเซียลมีเดียต่าง ๆ โดยประชาชน สามารถมีส่วนร่วมได้ในทันที เช่น การร่วมแสดงความคิดเห็นแบบสด ๆ ไปในช่องทางที่ รัฐสภากำลังถ่ายทอดสด
เวลา ๑๖.๓๐ - ๑๘.๐๐ นาฬิกา คณะผู้แทนฯ เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอ เรื่อง Meetings of hubs of the Centre for Innovation in Parliament ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องศูนย์นวัตกรรมในรัฐสภา หรือ Centre for Innovation in Parliament โดยตัวแทนจากรัฐสภายุโรป โดยศูนย์ดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างสหภาพรัฐสภา บราซิล ชิลี โปรตุเกส แซมเบีย และรัฐสภายุโรป ในการสร้างศูนย์กลางพื้นที่สำหรับรัฐสภาเพื่อการพัฒนาและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในยุทธศาสตร์ ด้านการส่งผ่านข้อมูลในรูปแบบดิจิตัล หรือเป็นพื้นที่ให้นักวิจัยและรัฐสภาต่าง ๆ เข้ามาสืบค้นข้อมูล เพื่อการพัฒนากฎหมายต่อไป
ช่วงท้ายของการประชุม เวลา ๑๘.๐๐ - ๑๙.๐๐ นาฬิกา คณะผู้แทนฯ ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง ที่จัดขึ้นโดยสหภาพรัฐสภา เพื่อเป็นเกียรติแก่คณะผู้แทนจากทุกประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
เครดิต : ภาพและข่าวโดย สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |