เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๑ คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย นายกิตติ วะสีนนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการการเมือง คนที่หนึ่ง พร้อมด้วย นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ และนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วย การโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยเป็นระเบียบ และปกติ (Parliamentary Conference on occasion of the Adoption of the Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration) ซึ่งจัดโดยสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union หรือ IPU) ร่วมกับ รัฐสภาโมร็อกโก ณ อาคารรัฐสภาโมร็อกโก กรุงราบัต ราชอาณาจักรโมร็อกโก ในเวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เข้าร่วม พิธีเปิดการประชุม โดยมีนาย Habib El Malki ประธานสภาผู้แทนราษฎรโมร็อกโก นาย Hakim Benchamach ประธานวุฒิสภาโมร็อกโก และนางสาว Gabriela Cuevas Barron ประธานสหภาพรัฐสภา ร่วมกล่าวเปิดการประชุม จากนั้น เวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา คณะผู้แทนฯ เข้าร่วมการประชุมช่วงที่ ๑ ภายใต้ หัวข้อ "การวิเคราะห์ภาพรวมของการโยกย้ายถิ่นฐานในระดับโลก" (Analysis of the migration landscape in the world) โดยที่ประชุมฯ ได้ร่วมรับฟังการบรรยาย จากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานที่ถือเป็น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ต่อมา เวลา ๑๔.๐๐นาฬิกา คณะผู้แทนฯ เข้าร่วม การประชุม ช่วงที่ ๒ ภายใต้หัวข้อ "แนวทางสำหรับสมาชิกรัฐสภาในการดำเนินการ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานฯ" (A guide for parliamentarians in implementing the Global Compact) โอกาสนี้ ภายหลังจากการรับฟังการบรรยาย จากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว นายกิตติ วะสีนนท์ หัวหน้าคณะผู้แทนฯ ได้ร่วมอภิปราย และสอบถามผู้บรรยายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาจะสามารถร่วมสนับสนุน การดำเนินการตามข้อตกลง GCM ในแต่ละเป้าประสงค์ (objectives) ทั้ง ๒๓ เป้าประสงค์ ของข้อตกลง GCM โดยเฉพาะในประเด็นด้านการสร้างความเป็นหุ้นส่วน (partnership) ซึ่งรัฐสภาสามารถมีบทบาทสำคัญ ในการสร้างการมีส่วนร่วม จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ผ่านการใช้อำนาจนิติบัญญัติในการกำกับตรวจสอบการทำงาน ของรัฐบาลในการดำเนินนโยบาย และการออกกฎหมาย โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ส่งเสริมรัฐบาลไทยให้ดำเนินการในเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศโดยเฉพาะในกรอบความร่วมมืออาเซียน ที่ไทยมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งเด็กและสตรีภายในภูมิภาคนี้ เพื่อขจัดปัญหาการลักลอบขนย้ายผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งนี้ ในฐานะที่ประเทศไทย เป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ ประเทศไทยก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ใช้โอกาส อันดีนี้ในการผลักดันแก้ไขประเด็นปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในเวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา คณะผู้แทนฯ ได้เข้าพบประหารือทวิภาคีกับนาย Habib El Malki ประธานสภาผู้แทนราษฎรโมร็อกโก โดยทั้งสองฝ่ายต่างเน้นย้ำถึง ความสัมพันธ์อันดีที่ประเทศทั้งสองมีต่อกันทั้งในภารรัฐบาลและภาครัฐสภาและ ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (human capital) ซึ่ง ปัจจุบันมีนักเรียนไทยมุสลิมได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลโมร็อกโกเพื่อศึกษาศาสนา ในประเทศโมร็อกโกอยู่จำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกันประเทศไทยก็พร้อมที่จะส่งเสริม ความร่วมมือระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะในด้านการแบ่งปันองค์ความรู้ เกี่ยวกับการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยอาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และทั้งสองได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ ในระดับภูมิภาค โดยที่ประเทศโมร็อกโกได้ให้ความสำคัญกับประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพอย่างยิ่ง ในการพัฒนาในอนาคต และประเทศไทยในฐานะที่จะเป็นประธานอาเซียนและ ประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียนในปี ๒๕๖๒ นี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ช่วยส่งเสริม บทบาทของประเทศโมร็อกโกในการเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของทั้งสองกรอบ การประชุมด้วย หลังจากนั้น ในเวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา คณะผู้แทนฯ เข้าร่วมการประชุมช่วงที่ ๓ ภายใต้หัวข้อ "ประเด็นท้าทายระดับชาติกับบทบาทของสมาชิกรัฐสภา" (National challenges and the role of parliamentarians) ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ร่วมรับฟังการ บรรยายกรณีตัวอย่างของประเด็นท้าทายภายในประเทศในด้านการบริหารจัดการ การโยกย้ายถิ่นฐาน ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใต้บทบาท ของสมาชิกรัฐสภาในประเทศอิตาลี จอร์แดน ชิลี และอิรัก ก่อนที่ผู้แทนจากรัฐสภา นานาประเทศจะได้ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องประเด็นท้าทายต่าง ๆ ภายใน ประเทศของตน
เครดิต : ภาพและข่าว โดย สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร
|