เมื่อวันเสาร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา (เวลาท้องถิ่น ณ เมืองคาโตวีเซ) คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการประชุมรัฐสภาในโอกาสการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๔ (COP24) ประกอบด้วย ศาสตราจารย์สนิท อักษรแก้ว หัวหน้าคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติฯ พลอากาศเอก ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์ ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติฯ และพลเอก ศุภวุฒิ อุตมะ ผู้แทน สภานิติบัญญัติแห่งชาติฯ พร้อมด้วยนายจีระศักดิ์ ป้อมสุวรรณ ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ (Pavilion) ในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมรัฐภา คีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๔ (COP24) ในภาครัฐบาล ณ International Convention Centre (ICC) เมืองคาโตวีเซ โอกาสนี้ คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติฯ ได้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการของประเทศไทย (Thailand Pavilion) พร้อมรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับนิทรรศการฯ จากนางสาวสาวิตรี ศรีสุข ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นางศุภวรรณ วงษ์ประยูร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ ดร. ปรียาพร พรหมพิทักษ์ ข้าราชการบำนาญ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำหรับ นิทรรศการของประเทศไทย ภายใต้หัวข้อหลัก Catalyst for Change พร้อมด้วยธีม (Theme) ซึ่งเน้นย้ำความร่วมมือในปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าควรได้รับการ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่มีพลังมากพอ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นความสำเร็จเช่นเดียวกับ ที่ทั้งโลกร่วมกันให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการและกู้ภัยถ้ำหลวงของทีมหมูป่า ๑๓ ชีวิต มีรายละเอียดแบ่งเป็น (๑) การจัดรูปแบบห้องบรรยาย ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้ง ประเทศไทยและต่างประเทศในสาขาต่าง ๆ และ (๒) มุมสำหรับถ่ายภาพและของที่ระลึก อาทิ โปสการ์ด ถุงผ้าและผ้าพันคอรักษ์โลก จากนั้น คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการพร้อมทั้งแสดง ความสนใจในการนำเสนอของประเทศ/องค์กรต่าง ๆ อาทิ (๑) สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งนำเสนอแผนการดำเนินงานในระดับชาติด้านต่าง ๆ เพื่อต่อสู้ กับสภาวะโลกร้อน (๒) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนำเสนอเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยไม่ทำลายระบบนิเวศวิทยา (๓) สหภาพยุโรป ซึ่งนำเสนอการอภิปรายพร้อมทั้งเอกสารวิเคราะห์โครงการที่เกี่ยวข้อง กับการบังคับใช้ความตกลงปารีส (๔) กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund : GCF) ซึ่งนำเสนอบทบาทหน้าที่ ของการดำเนินงาน เพื่อเป็นกลไกสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการรับแหล่งเงินทุน เพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน (๕) สาธารณรัฐโปแลนด์ ซึ่งนำเสนอสินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบจากไม้ทั้งหมด ทั้งนี้ สาธารณรัฐโปแลนด์ ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีฯ สมัยที่ ๒๔ (COP24) ซึ่งมีประชากรกว่า ๓๙ ล้านคน และมีอัตราการเติบโตของ GDP สูงที่สุดในบรรดา สมาชิกสหภาพยุโรป นับเป็นหนึ่งในประเทศแหล่งถ่านหินใหญ่ของโลก การเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมในครั้งนี้ จึงนับเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประเทศบนความ พยายามในระดับสากลเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกตามที่กำหนดไว้ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) แม้อุตสาหกรรมภายในประเทศของสาธารณรัฐโปแลนด์ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นส่วนหนึ่งของสภาวะโลกร้อนจะยังดำเนินต่อไปก็ตาม
เครดิต : ภาพและข่าว โดยสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|