เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๓๐ ๑๘.๓๐ นาฬิกา ในการประชุม สมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๔๐ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์ประชุมเชอราตัน กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ คณะผู้แทนภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภา ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน การคลังและการค้า พร้อมด้วย นางเสาวณี สุวรรณชีพ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภา ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน การคลังและการค้า โดยที่ประชุมได้อภิปรายและแก้ไขร่างข้อมติ ในหัวข้อ บทบาทของการค้าและการลงทุนที่เป็นธรรมและเสรี เพื่อการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ยั่งยืน (The role of fair and free trade and investment in achieving the SDGs, especially regarding economic equality, sustainable infrastructure, industrialization and innovation) โอกาสนี้ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ ได้กล่าวอภิปรายต่อร่างข้อมติว่า ประเทศไทยเห็นด้วยกับร่างข้อมติ ในหลายประเด็น อาทิ ความสำคัญของการเปิดเสรีทางการค้าพหุภาคีและการลงทุนภายใต้ กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) การค้าและการลงทุนที่เสรีและเป็นธรรมเป็นแนวทางไปสู่ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน บทบาทที่สำคัญของรัฐสภาในการตรวจสอบและ ทบทวนการเตรียมการด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนการจัดทำกฎหมายเพื่ออำนวย ความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรม นอกจากนี้ ร่างข้อมติยังเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสตรี เยาวชนและกลุ่มคนเปราะบาง รวมถึงการค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ดี เราเห็นว่ายังมีบางประเด็น ที่ควรให้ความสนใจ ได้แก่ ๑. หน่วยงานที่รับผิดชอบควรให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลได้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาชนสามารถ ใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้และสร้างเสริม ความรู้ทางดิจิทัลและการเงินให้แก่กลุ่มคนเหล่านั้น ให้ได้รับโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่เท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยได้จัดวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อให้ บริการประชาชนในหมู่บ้านห่างไกล ซึ่งมีประชาชนกว่า ๓ ล้านคนทั่วประเทศได้รับประโยชน์ จากโครงการนี้ ๒. ควรมีการส่งเสริมการถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันพัฒนา ความสามารถทางนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างงานและความอยู่ดี มีสุขของประชาชนในประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่เราควรเน้นย้ำ คือ การจัดทำนโยบายและกฎระเบียบทางดิจิทัลที่เป็นสากลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและประกัน ความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจากรูปแบบการค้าและการลงทุนได้เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบ เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น รวมทั้งจะส่งเสริมให้เกิดการค้าและการลงทุนที่เสรีและเป็นธรรม ในยุคดิจิทัล ๓. สมาชิกรัฐสภาจำเป็นต้องแสดงบทบาทสำคัญในการพัฒนากรอบกฎหมายของ ประเทศเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันเพื่อการค้าและ การลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกคน เครดิต : ภาพและข่าวโดย สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|