วันพฤหัสบดีที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา นายมานะ โลหะวณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะ แถลงข่าวถึงประเด็นที่คณะ กมธ. มีความห่วงใยประชาชนและผู้บริโภคในภาวะ วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ของประเทศไทยในช่วง ๗ เดือน ที่ผ่านมา ซึ่งทางคณะ กมธ. มิได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการพิจารณาติดตามและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของ ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเด็นที่สำคัญจำนวน ๓ เรื่อง ประกอบด้วย ๑. พิจารณาศึกษาปัญหาและมาตรการแก้ไขความเดือดร้อนของผู้บริโภคกรณีมาตรการ Lock Down ประเทศ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนขาดรายได้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคกลับขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้น ๒. พิจารณาศึกษาแนวทางการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกรณีราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้บริโภคต้องซื้อน้ำมันสำเร็จรูปในราคาแพงและมีค่า ครองชีพที่สูงขึ้น ๓. พิจารณาศึกษาแนวทางและมาตรการทางการเงินในการช่วยเหลือและคุ้มครองโดยเฉพาะ แนวทางและมาตรการทางการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ เบื้องต้น คณะ กมธ. ขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ที่ได้เสียสละเวลาเข้าร่วมประชุมกับคณะอนุ กมธ. เพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และรับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการคุ้มครอง ผู้บริโภคในการออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือคุ้มครองผู้บริโภค โดยการปรับลดเพดาน ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากเดิมสูงสุดร้อยละ ๑๘ เหลือร้อยละ ๑๖และดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิม สูงสุดร้อยละ ๒๘ เหลือร้อยละ ๒๕ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ส.ค. ๖๓ แต่จากการศึกษาของคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะ กมธ. การคุ้มครองผู้บริโภค พบว่า ด้วยอัตราเพดานดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มิใช่สถาบันการเงิน แม้ปรับลดลงร้อยละ ๒ - ๓ นั้น ยังถือว่า มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ซึ่งยังไม่เหมาะสม ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค อีกทั้งยังสูงกว่าที่ประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักและมีสภาพบังคับเป็นการทั่วไป มาตรา ๖๕๔ กำหนด ไว้ว่า "ห้ามให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ ๑๕ ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็น ร้อยละ ๑๕ ต่อปี" และยังสูงกว่ากฎหมายยกเว้นห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นการ เฉพาะและกำหนดให้การเรียกดอกเบี้ยเกินร้อยละ ๑๕ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชน เป็นความผิดและมีโทษทางอาญา ทั้งนี้ จากสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือ และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค คณะ กมธ. จึงขอเรียกร้องไปยังรมว.การคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดมาตรการเพื่อ ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล "ไม่เกินร้อยละ ๑๕ ต่อปี" เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนผู้บริโภคอย่างยั่งยืนต่อไป
|