|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ โฆษกคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แถลงข่าวผลการประชุมของคณะ กมธ.
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 12 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2564
|
วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ โฆษกคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แถลงข่าวผลการประชุมของคณะ กมธ. ครั้งที่ 21/2564 โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้เริ่มประชุมเวลา 08.30 นาฬิกา และเลิกประชุมเวลา 18.30 นาฬิกา ในการพิจารณางบประมาณที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ใช้เวลาไปแล้ว 19 วัน รวม 160 ชั่วโมง รวมหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาแล้ว 8 กระทรวง 4 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 30.9 ของวงเงินงบประมาณ โดยกระทรวงที่ผ่านการพิจารณางบประมาณไปแล้วมี 8 หน่วยงาน ซึ่งในการพิจารณาภาพรวมงบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ประชุมยังได้มีการหารือและสอบถามเกี่ยวกับ ผลกระทบและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด- 19 ต่อนิสิตนักศึกษาและประชาชน และกรรมาธิการยังได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพการเรียนการสอนการผลิตนักศึกษาที่ตอบโจทย์ของประเทศ และการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย ทั้งนี้ มีกรรมาธิการบางท่านได้สอบถามว่า หน่วยงานมีแนวทางในการช่วยเหลือหรือเยียวยานิสิตนักศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างไร เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของนิสิตนักศึกษาและผู้ปกครอง เช่น อาจปรับลดค่าหน่วยกิตลง และในปัจจุบันหน่วยงานมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับนิสิตนักศึกษาไปแล้วกี่รายและหน่วยงานมีนโยบายอย่างไรในการช่วยเหลือประชาชนที่ป่วยจากโรคโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ทั้งนี้ หากหน่วยงานมีการจัดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อจัดทำเตียงสนามและที่พักสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมาก เพราะพื้นที่ของมหาวิทยาลัย มีระบบสาธารณูปโภค ระบบการกำจัดขยะและมลพิษ และอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชน ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้ชี้แจงว่า หน่วยงานได้ให้นโยบายกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการช่วยเหลือบุคลากรของมหาวิทยาลัยและเยียวยานิสิตนักศึกษาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ใน 3 เรื่อง ดังนี้ 1. การช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น การลดค่าหน่วยกิต การขยายเวลาการชำระค่าเล่าเรียนและการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษา ซึ่งอยู่ที่ดุลยพินิจของแต่ละมหาวิทยาลัย 2. การช่วยเหลือประชาคมผู้ประกอบการในมหาวิทยาลัยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย 3.การช่วยเหลือบรรเทาภาระทางการศึกษาของนิสิตนักศึกษา เช่น การสนับสนุนผ่านสื่อออนไลน์ ช่วยเหลือด้านการสื่อสารต่างๆ ขยายเวลาการศึกษาและการศึกงานเพื่อไม่ให้นิสิตนักศึกษามีปัญหาในการจบการศึกษา
ส่วนในวันนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณางบประมาณในภาพรวมของกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งหมด 7 หน่วยงานงบประมาณทั้งสิ้น 4,380,121,900 บาท และจะพิจารณางบประมาณในภาพรวมของกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ทั้งหมด 5 หน่วยงาน งบประมาณทั้งสิ้น 2,717,546,900 บาท และจะพิจารณางบประมาณในภาพรวมของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งหมด 7 หน่วยงาน งบประมาณทั้งสิ้น 5,164,586,900 บาท
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|