เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 เวลา 15.00 18.00 นาฬิกา คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ประกอบด้วย นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ และ น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ และ ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมระดับโลกของภาครัฐสภาว่าด้วยการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 (First Global Parliamentary Meeting on Achieving the SDGs) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นวันแรก ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสหภาพรัฐสภา (IPU) และสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 28 - 30 ก.ย. 64 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาครัฐสภาในการติดตามและขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนให้บรรลุเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากรัฐสภาประเทศสมาชิกจำนวนกว่า 134 คน ในการนี้ น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของสหภาพรัฐสภา ได้เข้าร่วมการประชุมตามคำเชิญของ IPU ด้วย
การประชุมเริ่มต้นขึ้นโดย Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา กล่าวเปิดการประชุม พร้อมทั้งขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐอินโดนีเซียที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สำคัญในครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของภาครัฐสภาในการร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านเครื่องมือด้านนิติบัญญัติอย่างจริงจัง โดยในวันแรกของการประชุมฯ แบ่งการอภิปรายออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
การประชุมในช่วงที่ 1 ภายใต้หัวข้อ สมาชิกรัฐสภามีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในยุคโควิด-19 อย่างไร (How are parliaments contributing to the realization of the SDGs during the COVID-19 pandemic?) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยการนำเสนอของ Ms. Karin Jabre ผู้อำนวยการด้านโครงการของสหภาพรัฐสภา โดยกล่าวถึงข้อท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน พบว่าจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีระยะเวลายาวนานกว่า 2 ปี ก่อให้เกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจซึ่งซ้ำเติมให้อัตราความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นเหตุให้การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดความล่าช้าออกไปอีก และต้องอาศัยความร่วมมือในการติดตาม ตรวจสอบ และสนับสนุนจากภาครัฐสภาอย่างจริงจัง ทั้งนี้ สหภาพรัฐสภาได้กล่าวชื่นชมรัฐสภาไทยที่ได้มีการจัดตั้งคณะอนุ กมธ.พิจารณาและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติและการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้คณะ กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา เพื่อเป็นกลไกในการติดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ
ในการนี้ ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการทำงานของคณะอนุ กมธ.พิจารณาและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ อาทิ การมีส่วนร่วมของภาครัฐสภาในการจัดทำรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ ปี 2564 (Voluntary National Review: VNR) การติดตามตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมารัฐสภาไทยได้เห็นชอบงบประมาณแผ่นดินคิดเป็นร้อยละ 9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เพื่อสนับสนุนในด้านดังกล่าวโดยไม่ละเลยกลุ่มเปราะบาง
ช่วงที่ 2 หัวข้อ ไม่ทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง : เราทำตามสัญญาหรือไม่ (Leave no one behind: Are we keeping the promise?) โดย Mr. Fernand de Varenne ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยชนกลุ่มน้อย ได้กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสตรีกลุ่มผู้เปราะบาง และชนกลุ่มน้อย ซึ่งถูกเลือกปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ความสามารถในการจ้างงานที่ลดลงของภาคเอกชน รวมถึงการได้รับค่าจ้างราคาถูกจากภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการยกระดับสถานะของสตรี และกลุ่มเปราะบางให้มีความเท่าเทียมทั้งในด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคม ในการนี้ สมาชิกรัฐสภาสาธารณรัฐเม็กซิโก ได้ยกตัวอย่างความพยายามในการออกกฎหมายของประเทศเกี่ยวกับการยกเว้นให้การรับโทษจำคุกของสตรีในกรณีลหุโทษหรืออันมีเหตุมาจากการกระทำความรุนแรงต่าง ๆ เป็นต้น
ช่วงที่ 3 หัวข้อ COVID-19 : การลงทุนในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเตรียมความพร้อมฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (COVID-19: A wakeup call to make investment in universal health coverage and health emergency preparedness a priority) โดย Mr. Tedos Adhanom Ghebreyesus เลขาธิการองค์การอนามัยโลก ได้กล่าวถึงการกระตุ้นจิตสำนึกของรัฐสภาประเทศสมาชิกในการออกกฎหมายที่ส่งเสริมการลงทุนในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข สำหรับกรณีฉุกเฉินหรือการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งใหม่ในอนาคต ซึ่งภาครัฐสภาเป็นความหวังเดียวของประชาชนในการทำให้เรื่องดังกล่าวมีผลทางกฎหมายอย่างจริงจังอันจะเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติโดยรวม
ในการนี้ น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์ COVID-19 ของไทย ต่อที่ประชุมผ่านกระดานข้อความ (Chat) โดยยกตัวอย่างกรณี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของประเทศไทยที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้จัดสรรงบประมาณในวงเงิน 4,215 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของการให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพทั่วประเทศ นอกจากนี้ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของ COVID-19 ประเทศไทยยังได้มีการจัดสรรวัคซีน ยา ชุดทดสอบ และเวชภัณฑ์สำหรับ COVID-19 และประชาชนได้รับสิทธิตรวจรักษา COVID-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย รวมทั้งยังมีการสนับสนุนแจกจ่ายชุดทดสอบแอนติเจน (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ไปยังโรงพยาบาลและร้านขายยาทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงในภูมิลำเนาของตนได้โดยง่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจน การจ่ายเงินชดเชยโดย สปสช. ให้แก่ประชาชนผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน COVID-19 ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนชายขอบและกลุ่มเปราะบางจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เครดิต : ภาพและข่าวโดยกลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|