จากนั้น ระหว่างเวลา 15.0020.00 นาฬิกา จะเป็นการประชุมคู่ขนาน จำนวนทั้งสิ้น 3 การประชุม ได้แก่
1) การประชุมเต็มคณะ ช่วงที่ 1 เวลา 15.0017.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมหมายเลข 406 ชั้น 4 โดยนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม โดยสามารถสรุปสาระสำคัญ คือ การให้ความสำคัญกับรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) ซึ่งไทยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ การรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกันระหว่างสมาชิก ASEP ที่ช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับการฟื้นตัวหลังโควิด-19 และการตระหนักถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคีและสนับสนุนให้สมาชิกอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระดับภูมิภาค และกำจัดอุปสรรคทางการค้า ตลอดจนบทบาทของรัฐสภาในการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและมีจุดมุ่งหมายเรื่องการกระจายวัคซีนและการผลิตวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน เน้นย้ำความร่วมมือกันเพื่อสันติภาพ การพัฒนาที่ยั่งยืน และการสร้างโลกหลังโควิด-19 ที่ดีกว่าเดิม
2) การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างปฏิญญาการประชุม เวลา 17.0019.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมหมายเลข 406 ชั้น 4 โดย นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และเสนอข้อคิดเห็นต่อร่างปฏิญญาโดยเพิ่มเติมประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยได้นำเสนอในที่ประชุม ASEP ครั้งที่ 11 โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบ BCG Model และการส่งเสริมความร่วมมือต่อเรื่องดังกล่าวในทุกภาคส่วน โดยในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างปฏิญญาการประชุม นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้เกียรติเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมดังกล่าวด้วย
3) การประชุมกลุ่มย่อย กลุ่มที่ 13 เวลา 15.0016.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3 โดยมีนายพีรเดช คำสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสาวจิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนฯ เข้าร่วมประชุม
สำหรับการประชุมกลุ่มย่อย กลุ่มที่ 1 เวลา 15.0016.30 นาฬิกา เป็นการอภิปรายภายใต้หัวข้อ รัฐสภาเชิงรุกเพื่อสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยนายพีรเดช คำสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม โดยมีสาระสำคัญ คือ การใช้ชีวิตอย่างมีสันติภาพ มั่นคง และเจริญรุ่งเรืองต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ แนวคิดเรื่องสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองควรครอบคลุมถึงความมั่นคงในมนุษย์ด้วย การสนับสนุนการทำงานขององค์การระหว่างประเทศของไทย บทบาทรัฐสภาที่มีประสิทธิภาพ และความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศในการป้องกันความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพ ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการใช้การทูตรัฐสภา ซึ่งประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชน
สำหรับการประชุมกลุ่มย่อย กลุ่มที่ 2 เวลา 16.3018.00 นาฬิกา เป็นการอภิปรายภายใต้หัวข้อ การส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลกในยุคโควิด-19 และต่อไปในอนาคต นางสาวจิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม โดยมีสาระสำคัญ คือ ความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสุขภาพในการรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 บทบาทสำคัญของรัฐสภาไทยต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดของรัฐบาลและการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ BCG Model เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือ BCG ระหว่างทั้ง 2 ภูมิภาคจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ตลอดจนเน้นย้ำความร่วมมือด้านนิติบัญญัติเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG ด้วย
สำหรับการประชุมกลุ่มย่อย กลุ่มที่ 3 เวลา 18.30 - 20.00 นาฬิกา เป็นการอภิปรายภายใต้หัวข้อ การเชื่อมโยงความมั่นคงด้านน้ำ-พลังงาน-อาหารภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม โดยมีสาระสำคัญ คือ การเชื่อมโยงความมั่นคงด้านน้ำ-พลังงาน-อาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และร่วมมือกันเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และผลักดัน BCG Model เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล รวมทั้งบทบาทของรัฐสภาไทยในการทบทวนและผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและทรัพยากรสิ้นเปลือง และเป็นที่มาของการขับเคลื่อนสำนักงานสีเขียว (Green Office) ของรัฐสภาไทยเพื่อให้การจัดการสิ่งแวดล้อมได้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเกียรติจากประเทศเจ้าภาพให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานร่วม (Co-Chair) ของการประชุมกลุ่มย่อย กลุ่มที่ 3 ร่วมกับ นาย SUOS Yara รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ข้อมูลข่าวสารและสื่อแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และนางสาว Mónika Bartos สมาชิกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ รัฐสภาฮังการี ด้วย
ช่วงสุดท้ายของการประชุม เวลา 20.1021.00 นาฬิกา ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการประชุมกลุ่มย่อย 1 2 และ 3 รวมทั้งรายงานผลการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างปฏิญญา โดยที่ประชุมรับรองปฏิญญาการประชุม ASEP ครั้งที่ 11 และปิดการประชุมโดยสมเด็จอัครมหาพญาจักรี เฮง สัมริน ประธานสภาแห่งชาติราชอาณาจักรกัมพูชา และประธานร่วมการประชุม ASEP ครั้งที่ 11
เครดิตข่าว : โดย กลุ่มงานกิจการพิเศษ สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เครดิตภาพ : โดย กลุ่มงานสื่อมวลชน สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร