วันพุธที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองประธานคณะ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน คนที่หนึ่ง และคณะ แถลงข่าว กรณีรายงานพิจารณาศึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรรมว่า จากการศึกษาเอกสารวิชาการ กฎหมาย และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติแล้ว คณะ กมธ. มีข้อสังเกตสำหรับกรณีเร่งด่วน ดังนี้ 1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรเร่งรัดดำเนินการลบประวัติตามเงื่อนไขในคดีที่อัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ศาลไม่ประทับรับฟ้อง และศาลยกฟ้อง ซึ่งมีจำนวนรายการที่แจ้งไว้ประมาณ 150,000 รายการ โดยเร็ว 2. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรบูรณาการข้อมูลที่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม โดยให้มีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน 3. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรควรมีการปรับปรุงข้อมูลสถานะของบุคคลที่มีประวัติต้องสงสัย ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้เป็นปัจจุบัน 4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรออกข้อปฏิบัติเพื่อเสนอแนวทางเร่งด่วนในการดำเนินงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เกี่ยวกับการปรับปรุงฐานข้อมูลประวัติอาชญากรรมในส่วนของประชาชน ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ศาลไม่ประทับรับฟ้อง และศาลยกฟ้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีแนวทางในการปฏิบัติต่อประชาชนที่ประสบปัญหาและอุปสรรคจากการตรวจพบข้อมูลประวัติอาชญากรรมที่ยังไม่ได้ถูกลบออกจากฐานข้อมูล
สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปนั้น คณะ กมธ. มีความเห็น ดังนี้ 1. กระทรวงยุติธรรมควรเร่งรัดการดำเนินงานเสนอร่าง พ.ร.บ.ประวัติอาชญากรรม พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนการตรากฎหมาย และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาโดยเร็ว 2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรพิจารณาออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการแยกทะเบียนประวัติที่ใช้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยออกเป็น 2 ทะเบียน ได้แก่ ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา และทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นต้น และกระจายอำนาจการคัดแยกให้ตำรวจภูธรจังหวัด และกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 - 9 สามารถคัดแยกได้เองใน 3 หัวข้อ คือ อัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ศาลไม่ประทับรับฟ้อง และศาลสั่งยกฟ้องเพื่อให้สามารถจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรรมได้ดียิ่งขึ้น
|