สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมร่วมของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนและคณะกรรมมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142 (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์)
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 เวลา 19.00-21.30 นาฬิกา ตามเวลาประเทศไทย นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนางเพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมร่วมของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142 (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) (Joint Session of the IPU Standing Committee on Sustainable Development and the IPU Standing Committee on United Nations Affairs during the 142nd Assembly) การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมการให้สมาชิกรัฐสภาในการเข้าร่วมการประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2564 (Parliamentary Forum at the 2020 High-Level Political Forum on Sustainable Development - 2021 HLPF) ซึ่งมีประเด็นหลักเกี่ยวกับการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนภายหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมี Ms. Veronica Muzenda สมาชิกวุฒิสภาซิมบับเว ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และ Mr. Juan Carlos Romero สมาชิกวุฒิสภาอาร์เจนตินา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมฯ
ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเสนอหัวข้อในการอภิปรายจำนวน 3 หัวข้อ ใน 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 หัวข้อ องค์ประกอบหลักของระยะการฟื้นตัวโอกาสในการก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Main components of the recovery phase, opportunities to advance towards a green economy) และ หัวข้อ การฟื้นฟูความร่วมมือและการสานเสวนาแบบพหุภาคีเพื่อจัดการความท้าทายระดับโลกและการระบาดใหม่ที่อาจเกิดขึ้น (Renewed multilateral cooperation and dialogue to tackle global challenges, including possible new pandemics)
สมาชิกรัฐสภาจากนานาประเทศได้ร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการกำกับตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐบาล เพื่อประกันว่าการดูแลความต้องการพื้นฐานของประชาชนเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงเด็ก สตรี คนชรา และประชาชนชายขอบ ซึ่งเป็นคนในกลุ่มเปราะบางและกฎหมายอาจไม่สามารถครอบคลุมถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้เน้นย้ำการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการหดตัวของตลาด ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี พลังงานสะอาดและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศของตนให้เพียงพอ เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ในระดับโลกและการระบาดใหม่ที่อาจเกิดขึ้น
ในการนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมว่า แม้การขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs อาจจะถดถอยลงไป เนื่องจากโควิด-19 แต่การระบาดใหญ่เป็นโอกาสสำคัญในการทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และวิถีชีวิตครั้งใหญ่ของชาวโลก สำหรับประเทศไทยมียุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูให้กลับมาดีกว่าเดิม ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การลงทุนในการเปลี่ยนเศรษฐกิจวิถีดิจิทัล และ เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และการยึดต้นแบบของ เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและการส่งเสริมบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างมากในการเข้าถึงเวชภัณฑ์อุปกรณ์และบริการ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ราคาไม่แพงและทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการขยายระบบสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนและสังคมได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึงและเป็นระบบ ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2564 ประเทศไทยจะได้นำเสนอรายงานทบทวนระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF)
จากนั้น ในช่วงที่ 2 ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปราย ในหัวข้อ การเข้าถึงวัคซีนในฐานะสินค้าสาธารณะ (Vaccine accessibility as a public good) โดยมี Ms. Silvia Dinică สมาชิกวุฒิสภาจากโรมาเนีย ซึ่งเป็นผู้ร่วมเสนอร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำหน้าที่ประธานการประชุม และ Ms. Manon Aubry สมาชิกสภายุโรป จากฝรั่งเศส ทำหน้าที่ผู้ร่วมอภิปราย โดยกล่าวถึงปัญหาการจัดสรร และการเข้าถึงวัคซีนของประเทศกำลังพัฒนา และประเทศชายขอบที่ยังคงไม่ทั่วถึง จากนั้น สมาชิกรัฐสภาจากประเทศมองโกเลีย จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อินเดีย บุรุนดี และเกาหลีใต้ ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อดังกล่าว โดยเกาลีใต้ได้กล่าวปิดท้ายถึงปัญหาความไม่เพียงพอและความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงวัคซีนว่าเป็นเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นอุปสรรคอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องของกำลังการผลิตเทคโนโลยี หรือประชาชน ทั้งนี้ เน้นย้ำให้ภาครัฐสภาและรัฐบาลต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และเพื่อความปลอดภัยของทุกคน
เครดิต : ภาพและข่าวโดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภาสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |