|
|
น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของสหภาพรัฐสภา (IPU Advisory Group on Health AGH) เข้าร่วมการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 24 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
วันที่ 30 เม.ย. 2564
|
เมื่อวันพุธที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 19.00 21.30 นาฬิกา (ตามเวลาในประเทศไทย) น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของสหภาพรัฐสภา (IPU Advisory Group on Health AGH) เข้าร่วมการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 24 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 20 คน โดยที่ประชุมได้พิจารณารายงานเรื่อง การดำเนินการด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยภาครัฐสภาในช่วงการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Parliamentary action on universal health coverage in times of COVID-19) ที่เน้นการดำเนินการของรัฐสภาตามข้อมติ เรื่อง การบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ได้ภายในปี 2573 : บทบาทของรัฐสภาในการให้หลักประกันในสิทธิด้านสาธารณสุข (Achieving universal health coverage by 2030 : The role of parliaments in ensuring the right to health) ซึ่งที่ประชุมสหภาพรัฐสภาได้ให้การรับรองเมื่อเดือน ต.ค. 62 ณ กรุงเบลเกรด สาธารณรัฐเซอร์เบีย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้การรับรองร่างแถลงการณ์การประชุมระดับสูง ปี 2564 เรื่องเอชไอวี/เอดส์ (Draft Statement on the 2021 High-Level Meeting on HIV/AIDS) โดยมีสาระสำคัญคือ การยุติการระบาดของโรคเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เข้าถึงการบริการ การใช้อำนาจตรวจสอบและอำนาจในการจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้ป่วยโรคเอชไอวี/เอดส์ เป็นต้น ซึ่งจะได้นำเสนอให้กับคณะมนตรีบริหารของสหภาพรัฐสภาให้การรับรองในเดือนพฤษภาคมนี้ต่อไป
จากนั้น น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ได้กล่าวรายงานกิจกรรมที่สมาชิกแต่ละคนได้ดำเนินการในด้านสาธารณสุขนับตั้งแต่การประชุมคณะที่ปรึกษาฯ ครั้งสุดท้ายว่า ตนเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สภาผู้แทนราษฎร ในการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ได้ทำการตรวจสอบรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการแก้ไขการระบาดของโควิด-19 รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากโควิด-19 โดยเมื่อต้นเดือน มิ.ย. 63 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบพระราชกำหนด 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูทั้งภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนี้ตนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ได้ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อาทิ ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงการระบาดเมื่อปี 2563 การขาดแคลนเจลล้างมือ อีกทั้งยังได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม่ทัพภาคที่ 4 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมแก้ไขและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19
ในช่วงท้าย น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ได้เสนอ 2 ประเด็นสำคัญสำหรับแผนการทำงานในอนาคตของคณะ AGH ได้แก่ 1. การดูแลสุขภาพจิต (Mental health and psychosocial support) โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ประชาชนมีความเครียด ซึมเศร้าหดหู่ และวิตกกังวลอย่างมากซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปถึงหลังการระบาดใหญ่ด้วย 2. การเตรียมการเพื่อเตรียมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ (Preparedness for new emerging diseases) ในอนาคต
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้นาง G. Katuta Mwelwa (แซมเบีย) และนาย J. Echániz (สเปน) ดำรงตำแหน่งประธาน AGH และรองประธาน AGH ตามลำดับ ต่อไปอีกวาระหนึ่ง เป็นระยะเวลา 1 ปี
เครดิตข่าวและภาพ : กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|