|
|
สมาชิกรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142
วันที่ 30 เม.ย. 2564
|
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน 2564 เวลา 19.00 21.30 นาฬิกา (ตามเวลาในประเทศไทย) น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ นพ. ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ (The IPU Standing Committee on United Nations Affairs) ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Interprefy ซึ่งเป็นการประชุม ครั้งสุดท้ายของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ โดยมี Mr. Juan Carlos Romero สมาชิกวุฒิสภาอาร์เจนตินา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุมฯ และ Ms. Patricia Torsney ผู้สังเกตการณ์ถาวรของสหภาพรัฐสภาประจำสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ
โดยในครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อร่วมอภิปรายในหัวข้อของการติดตามการดำเนินการของภาครัฐสภาตามปฏิญญาในโอกาสครบรอบ 75 ปี แห่งการก่อตั้งสหประชาชาติ (Declaration for the Commemoration of the 75th Anniversary of the United Nations) ซึ่งการประชุมแบ่งออกเป็นสองช่วง ได้แก่ ช่วงที่หนึ่ง : การอภิปรายร่วมกันของสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับเป้าหมายร่วมสำหรับสหประชาชาติในโอกาสวาระครบรอบ 75 ปี (UN75s Common Agenda) ซึ่งมุ่งหวังขับเคลื่อนให้ระบบพหุพาคีนิยมประสบความสำเร็จ และบทบาทหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการดังกล่าว โดยมี Ms. Mathu Joyini ผู้แทนถาวรของแอฟริกาใต้ประจำสหประชาชาติ Mr. Bob Rae ผู้แทนถาวรของแคนาดาประจำสหประชาชาติ และ Ms. Elizabeth Cousens ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิแห่งสหประชาชาติ เป็นผู้ร่วมอภิปราย พร้อมทั้งผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ อาทิ มองโกเลีย ตุรกี อินเดีย จีน ไทย อิหร่าน คูเวต ได้ร่วมกันอภิปราย นำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบอันรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต และที่สำคัญคือระบบพหุภาคีนิยม ความร่วมมือระหว่างนานาประเทศเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาความท้าทายนี้ให้อย่างสำเร็จและมีความยั่งยืน
โอกาสนี้ ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมว่าไทยได้ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับกิจการต่างๆ ของสหประชาชาติอย่างสร้างสรรค์มาโดยตลอดระยะเวลา 75 ปีของสมาชิกภาพของไทยใน UN จากนั้นได้ร่วมแสดงทัศนะเกี่ยวกับหลักการในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการรับมือกับความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งเน้นไปที่ความหลากหลายในสามด้านคือ (1) Multi-strategy การออกแบบยุทธศาสตร์บนความหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับการรับมือกับปัญหาในทุกภูมิภาคของโลกซึ่งมีบริบทและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน (2) Multi-stakeholders การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายจากทุกภาคส่วน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ในการร่วมกันหาทางออกของปัญหา และ (3) Multi-lateralism ความร่วมมือร่วมใจแบบหพุภาคีของนานาประเทศในการตัดสินใจร่วมกันบนหลักการและกติการะหว่างประเทศที่เป็นธรรม ตลอดจนร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนบทเรียนและแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ ในการบริหารกิจการของโลก
ช่วงที่สอง : Ms. Michèle Griffin ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของเลขาธิการสหประชาติ ได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงความเป็นมาของเป้าหมายร่วมสำหรับสหประชาชาติ (Our Common Agenda) ในโอกาสวาระครบรอบ 75 ปี ของ UN จำนวน 12 ข้อ หลังจากนั้นได้เข้าสู่ช่วงการร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านการทำโพลหรือแบบสำรวจความคิดเห็น ซึ่งมีคำถามทั้งหมด 9 คำถามเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของภาครัฐสภาในการดำเนินตาม UN75s Our Common Agenda และเปิดให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้อภิปรายหลังการสรุปผลการสำรวจในแต่ละคำถาม โดยหนึ่งในคำถามเกี่ยวกับการให้คำนิยามและการจัดการสินค้าสาธารณะของโลก (global public goods) ได้รับผลการสำรวจว่า "สินค้าสาธารณะต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้" ด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น และ Ms. Patricia Torsney ได้อ่านความคิดเห็นของไทยที่ส่งผ่านระบบข้อความส่วนตัว (private chat) ต่อที่ประชุมว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก็ควรที่จะเป็น global public goods ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ จะนำไปประกอบการจัดทำรายงานสำคัญของเลขาธิการสหประชาชาติซึ่งจะเผยแพร่ในช่วงภาคฤดูร้อนของปี 2564
เครดิตภาพและข่าว : กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|