เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2564 เวลา 14.00 นาฬิกา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Geopolitical Group : APG) ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมด้วยคณะผู้แทนรัฐสภาไทย จำนวน 4 คน ประกอบด้วย 1) นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2) นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3) นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา และ 4) นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา พร้อมกันนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมด้วย
การประชุมซึ่งมี Ms. Nam In-soon สมาชิกรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลี ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ดำเนินการประชุมโดยพิจารณาเรื่องต่างๆ ตามระเบียบวาระการประชุม ได้แก่
1) การรายงานผลการประชุมกลุ่มอาเซียน+3 โดย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาไทย ในฐานะประธานกลุ่มอาเซียน+3 ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142
2) การรายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา (IPU Executive Committee) โดยนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภาจากประเทศไทยเป็นตัวแทนของกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภาในสัดส่วนของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ปากีสถาน และไทย ทำหน้าที่รายงานให้ที่ประชุมได้รับทราบ
3) การพิจารณาผู้สมัครในตำแหน่งต่างๆ ที่ว่างลงของสหภาพรัฐสภาในสัดส่วนของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประเทศสมาชิกได้เสนอชื่อผู้สมัครเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ เกินกว่าโควต้าที่กลุ่มฯ ได้รับในหลายตำแหน่ง เช่น คณะทำงานว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Working Group on Science and Technology) คณะที่ปรึกษาระดับสูงว่าด้วยการต่อต้านก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง ที่นิยมความรุนแรง (High-Level Advisory Group on Countering Terrorism and Violent Extreamism) ซึ่งรัฐสภาไทยได้เสนอชื่อสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้สมัครในตำแหน่งในคณะทั้งสองด้วย ได้แก่ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา และศ.กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกลุ่ม APG ครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวน 12 ประเทศ จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 36 ประเทศ ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ตามหลักฉันทามติ ประธานในที่ประชุมจึงได้ยุติการประชุม และแจ้งว่าอาจมีความจำเป็นต้องขอให้ประเทศสมาชิกร่วมกันลงคะแนนด้วยวิธีลับผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในภายหลังเพื่อมีมติตัดสินในการหาตัวแทนของกลุ่ม APG ในบางตำแหน่งที่มีภาวะการแข่งขันให้แล้วเสร็จภายในกำหนดของ IPU คือวันที่ 16 พฤษภาคม 2564
เครดิต : ข่าว โดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|