|
|
สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมคณะ กมธ. สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142
วันที่ 20 พ.ค. 2564
|
เมื่อวันอังคารที่ 18 พฤษภาคม 2564 เวลา 19.00 นาฬฺกา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยและในฐานะผู้ร่วมเสนอรายงาน (co-Rapporteur) ของคณะ กมธ.สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (The IPU Standing Committee on Democracy and Human Rights) เข้าร่วมการประชุมคณะ กมธ. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142 โดยมี Mr. A.Y. Desai (อินเดีย) ประธานคณะ กมธ. เป็นประธานดำเนินการประชุม ซึ่งมีวาระสำคัญ ได้แก่ การอภิปรายเพื่อเตรียมการ (Preparatory Debate) จัดทำร่างข้อมติ ว่าด้วยเรื่อง การออกกฎหมายทั่วโลกเพื่อรับมือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ (Legislation Worldwide to Combat Online Sexual Child Exploitation)โดยผู้ร่วมเสนอรายงานจาก 3 ประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เคนยา และไทย ได้นำเสนอแนวคิดหลัก พร้อมทั้งรับฟังและรวบรวมข้อมูลและความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากองค์กร ECPAT และผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ตลอดจนข้อมูลและข้อคิดเห็นจากประเทศสมาชิก
ในการนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ร่วมอภิปรายนำเสนอแนวคิดหลักที่จะเป็นแกนของร่างข้อมติต่อที่ประชุม ซึ่งเป็นผลมาจากการรับฟังคำปรึกษาและข้อเสนอจากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมของไทย รวมถึงองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาดังกล่าว โดยมีใจความสำคัญว่า สถานการณ์การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก จากการเสนอผลตอบแทนจากเงินสดเป็นสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ จากการบีบบังคับไปสู่ความสมัครใจ และการเผยแพร่ผ่านช่องทางที่เปิดเผยไปสู่การเผยแพร่ผ่านช่องทางลับ จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสร้างความซับซ้อนและความยากลำบากในการติดตาม จับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วในโลกออนไลน์ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างความร่วมมือภายใต้กรอบของนิติบัญญัติใน 3 มิติ ได้แก่ การป้องกัน การบังคับใช้กฎหมาย และการบำบัดรักษา ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวควรดำเนินการควบคู่กันใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีช่องว่างและความแตกต่างในแง่ของความสามารถในการจัดการปัญหา ช่องว่างทางกฎหมาย รวมทั้ง ข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ดังนั้น บทบาทของรัฐสภาจะมีส่วนช่วยผลักดันประเด็นปัญหาดังกล่าวเพื่อให้เกิดความร่วมมือทั้งในและระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ อาทิ การสร้างความตระหนักรู้ การมีส่วนร่วมในการกำกับตรวจสอบการดำเนินนโยบายของภาครัฐ และการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง 2) การดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมาย อาทิ การปรับแก้ไขหรือออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของบริษัทผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหา และ 3) การพิจารณาสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่ออำนวยความสะดวกให้การดำเนินการด้านต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การบังคับใช้กฎหมาย การวิเคราะห์ข้อมูล Big Data รวมทั้ง เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีกำหนดที่จะประชุมร่วมกับผู้ร่วมเสนอรายงานอีก 2 ประเทศ ในวันที่ 20 พ.ค. 64 เพื่อหารือร่วมกันถึงการกำหนดกรอบและแนวทางการยกร่างข้อมติดังกล่าวเพื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 64 และนำเข้าสู่การพิจารณาและรับรองในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 143 ในเดือน พ.ย. 64 ณ กรุงคิกาลี ประเทศรวันดา
เครดิต : ภาพและข่าวโดยกลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|