|
|
สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ผ่านมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน : การมีส่วนร่วมของรัฐสภา"
วันที่ 1 ก.ค. 2564
|
เมื่อวันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2564 เวลา 19.00 22.00 นาฬิกา (ตามเวลาในประเทศไทย) นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา และนายศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ผ่านมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน : การมีส่วนร่วมของรัฐสภา (COVID-19 Pandemic Recovery Through a Human Rights Lens : What Contribution from Parliaments?) เป็นวันแรก
โดยการประชุมครั้งนี้จัดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระหว่างวันที่ 29 - 30 มิ.ย. 64 โดยสหภาพรัฐสภาร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights OHCHR) มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศสมาชิก IPU ทั่วโลกกว่า 100 คน สืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชนและยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้าง อีกทั้งยังเน้นให้เห็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางเด่นชัดขึ้นในแง่ของการเข้าถึงการศึกษา การสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การจ้างงาน และการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้น การแก้ไขปัญหาโควิด-19 จึงมิใช่มุ่งเน้นแค่เพียงการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเท่านั้น การฟื้นฟูควรมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาปัจจัยมูลฐานสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ของกลุ่มประชากรชายขอบซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ ยิ่งเลวร้ายลง การประชุมเชิงปฏิบัติการเสมือนจริงนี้จึงเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ รวมทั้งข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดที่มีต่อสิทธิมนุษยชนและแนวปฏิบัติที่ดีในการวางยุทธศาสตร์ของประเทศที่อิงสิทธิมนุษยชน รวมถึงแนวทางที่สมาชิกรัฐสภาจะสามารถมีส่วนร่วมในการฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งให้ความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งขันผ่านกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
ในการนี้ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ได้ร่วมกล่าวอภิปรายต่อที่ประชุม ความว่า ในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประเทศไทยเชื่อว่ารัฐสภาจะเป็นเสมือนแสงไฟนำทางแห่งความหวังของประชาชนที่จะฟื้นฟูกลไกการกำกับตรวจสอบรัฐบาลให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งเพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสของมาตรการฉุกเฉินโดยใช้กลไกการตรวจสอบที่เข้มแข็งของรัฐสภาต่อมาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้ ทั้งนี้ วิถีของสิทธิมนุษยชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะต้องกลับสู่ภาวะปกติภายหลังจากภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขได้คลี่คลายแล้ว จากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย รัฐสภาสามารถเดินหน้าสนับสนุนและคุ้มครองคุณค่าหลักของประชาธิปไตยที่สำคัญ รวมทั้งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยการรับประกันถึงเสรีภาพในการรวมกลุ่มและ การแสดงออก ขณะเดียวกันก็เคารพต่อหลักนิติรัฐและเสรีภาพของสื่อมวลชนเพื่อที่จะได้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้โดยปราศจากการปิดกั้น รัฐสภาและสื่อมวลชน รวมไปถึงผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อต่อสู้กับภัยจากทฤษฎีสมคบคิดหรือการสร้างข่าวหลอกลวงและการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลที่มีความชัดเจนและถูกต้องบนหลักฐานเชิงประจักษ์ในทางวิทยาศาสตร์ การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะช่วยควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนแล้วยังเป็นการเสริมสร้างการสื่อสารด้านสาธารณสุขให้มีความเข้มแข็งขึ้นด้วย ท้ายที่สุด รัฐสภาจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ามาตรการฉุกเฉินที่บังคับใช้และการจำกัดสิทธิมนุษยชนบางประการนั้นจะต้องอยู่ในขอบเขตที่ชัดเจนของระยะเวลาที่จำกัด เป็นไปตามกฎหมาย และใช้ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความจำเป็นในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ โดยจะต้องไม่ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือสื่อมวลชน อย่างไรก็ดี หากสามารถผสานการดำเนินการดังกล่าวได้ เราจะสามารถหาจุดสมดุลระหว่างปัญหาด้านสาธารณสุขกับข้อห่วงกังวลในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและต่อผู้แทนของประชาชน
เครดิตข่าวและภาพ : กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|