|
|
สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการของสหภาพรัฐสภา เรื่อง การฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ผ่านมุมมองสิทธิมนุษยชน: การมีส่วนร่วมของรัฐสภา" เป็นวันที่สอง
วันที่ 2 ก.ค. 2564
|
เมื่อวันพุธที่ 30 มิถุนายน 2564 เวลา 19.00 22.00 นาฬิกา (ตามเวลาในประเทศไทย) นายศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการของสหภาพรัฐสภาเรื่อง การฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ผ่านมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน: การมีส่วนร่วมของรัฐสภา (COVID-19 pandemic recovery through a human rights lens: What contribution from parliaments?) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นวันที่สอง
โดยนายศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมอภิปรายในวาระที่ 3 หัวข้อ การฟื้นฟูให้ดีขึ้นกว่าเดิม : มาตรการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ที่อิงหลักสิทธิมนุษยชนที่ประสบความสำเร็จเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติเชิงโครงสร้าง และการทำให้กระบวนการจัดทำ UPR ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นไปตามรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ 38/25 ความว่า หน้าที่ตามกฎหมายของรัฐตามพันธกรณีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลคือ การคุ้มครอง เคารพ และเติมเต็ม ด้วยเหตุนี้ รัฐสภาจะต้องไม่บัญญัติกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมและต้องคุ้มครองปัจเจกชนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย การจัดสรรงบประมาณในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นการเติมเต็มเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม รวมไปถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และการเข้ารับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย ในฐานะที่เป็นผู้แทนของปวงชน สมาชิกรัฐสภาจึงจำเป็นต้องดำเนินการตรวจสอบการบังคับใช้และการขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากการใช้มาตรการฉุกเฉินในบางเรื่องเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนั้นมีผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยทฤษฎีแล้ว การบังคับใช้พระราชกำหนดดังกล่าวจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน หากมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปอีก รัฐบาลควรมุ่งไปที่การควบคุมการระบาดของโรคอย่างแท้จริงโดยส่งผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของประชาชนให้น้อยที่สุดและควรกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวให้มีความชัดเจนแน่นอน นอกจากนี้ เพื่อให้รัฐสภาสามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงในด้านการสาธารณสุขกับเศรษฐกิจจากการระบาดครั้งนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่เพียงแค่ประชาชนชายขอบและกลุ่มประชาชนผู้มีความเปราะบางเท่านั้น หากแต่รัฐสภาและผู้มีส่วนได้เสียสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่ลืม แรงงานนอกระบบ ผลกระทบจากการออกมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่มีต่อการใช้ชีวิตและการทำมาหากินของประชาชนที่ทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ได้แก่ กลุ่มคนที่ทำงานกลางคืน เช่น นักดนตรี พนักงานประจำบาร์ พนักงานบริการ หรือผู้ค้าออนไลน์ ควรได้รับการบรรเทาภาระจากรัฐบาลด้วยเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ปราศจากความกลัวและความอดอยาก
เครดิตข่าวและภาพ : กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|