|
|
สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งสหภาพรัฐสภา
วันที่ 14 ก.ค. 2564
|
เมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564 เวลา 19.00 21.15 นาฬิกา (ตามเวลาในประเทศไทย) ศาสตราจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสมาชิกคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหภาพรัฐสภา (IPU Working Group on Science and Technology : WGST) เข้าร่วมการประชุมของคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหภาพรัฐสภาเป็นครั้งแรกในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ Zoom พร้อมด้วยสมาชิกรัฐสภาผู้ดำรงตำแหน่งในคณะทำงานจากอีก 11 ประเทศ
ในการดังกล่าว Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา ได้กล่าวต้อนรับสมาชิกรัฐสภาผู้ดำรงตำแหน่งในคณะทำงานชุดใหม่ล่าสุดของ IPU นี้ พร้อมกันนี้ สมาชิกรัฐสภาผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคนได้กล่าวแนะนำตัวต่อที่ประชุม และได้มีมติเลือกให้ Mr. Michel Larive สมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศส ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอการก่อตั้งคณะ WGST ให้ดำรงตำแหน่งประธาน และ Ms. Sahar Attia สมาชิกรัฐสภาจากอียิปต์ ให้ดำรงตำแหน่งรองประธาน จากนั้นที่ประชุมได้รับรองระเบียบวาระการประชุม พร้อมทั้งอภิปรายประเด็นสำคัญต่าง ๆ ของคณะทำงานตามระเบียบวาระการประชุม ได้แก่ อำนาจหน้าที่ของคณะทำงาน รวมถึงร่วมกันกำหนดเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ และแผนงานของคณะทำงาน ระหว่างปี 2564 2565 นี้ โดยมี Mr. Michel Larive สมาชิกรัฐสภาจากฝรั่งเศส ทำหน้าที่ประธานการประชุม
ในการนี้ ศาสตราจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสมาชิกคณะทำงานฯ ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของคณะทำงานว่าตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของประธานในการยกร่างกฎบัตรระหว่างประเทศว่าด้วยจริยธรรมในการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ คณะทำงานควรที่จะกำหนดประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสนใจและวางแนวทางที่เห็นพ้องร่วมกันให้ชัดเจนก่อน โดยตนได้เสนอให้สมาชิกในคณะทำงานจากแต่ละประเทศได้แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีว่าด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม และการขจัดความยากจน ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนั้น ศาสตราจารย์ กนกฯ ได้เสนอให้ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการนำกฎบัตรนี้ไปใช้ให้เกิดผลในระดับชาติด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งเห็นควรบัญญัติให้กฎบัตรดังกล่าวสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมโยงกับประชาชนเป็นสำคัญ ในฐานะที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้แทนปวงชน โดยประธานและที่ประชุมต่างเห็นด้วยกับประเด็นแนวทางที่ไทยเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขจัดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่พึงรับใช้และเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกกลุ่มทุกภาคส่วนอย่างเสมอภาค ทั้งนี้ ประธานได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะทำงาน รวบรวมประเด็นทั้งหมดจากที่ประชุม เพื่อดำเนินการยกร่างกฎบัตรนี้ต่อไป
เครดิต : ภาพและข่าว โดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|