|
|
ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมและปลูกฝังแนวคิดบ้านเมืองสุจริตไปสู่เยาวชนประจำปี 2566 พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 21 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
วันที่ 5 ก.พ. 2566
|
วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 21 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมและปลูกฝังแนวคิดบ้านเมืองสุจริตไปสู่เยาวชน ประจำปี 2566 พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต โดยมี นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต้อนรับ และนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต กล่าวรายงาน
โอกาสนี้ นายสุทิน คลังแสง นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา นายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการบริหารโครงการบ้านเมืองสุจริต คณะครู อาจารย์นักเรียน นักศึกษา และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมพิธี
นายชวน หลีกภัย กล่าวปาฐกถาพิเศษใจความตอนหนึ่งว่า วันนี้มาในนามฝ่ายนิติบัญญัติ หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติคือ การออกกฎหมาย ประเทศไทยเรามีโครงสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการเป็นหลัก ทั้ง 3 ฝ่ายเป็นการแบ่งอำนาจและตรวจสอบควบคุมกันและกัน บ้านเมืองปกครองด้วยกฎหมาย ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และต้องเคารพโดยไม่มีข้อยกเว้น กฎหมายในระบอบประชาธิปไตยออกโดยประชาชนให้ความเห็นชอบ แต่ไม่มีห้องประชุมที่จะบรรจุคนทั้ง 66 ล้านคนได้ จึงมีต้องมีการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ โดยเลือกตามจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัดเพื่อเป็นตัวแทนออกกฎหมาย เมื่อสภาเป็นผู้ออกกฎหมายแล้ว ฝ่ายบริหารเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ฝ่ายตุลาการเป็นผู้ตัดสินว่าใครถูกใครผิด ตุลาการต้องตัดสินตามหลักฐาน ปราชญ์โบราณคิดว่าการปกครองที่ดีที่สุดคือ ต้องปกครองด้วยคนดี แต่ปราชญ์รุ่นใหม่มีความเห็นว่าการปกครองที่จะได้ประโยชน์และให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่แท้จริงต้องปกครองด้วยหลักกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้หากไม่มีการแก้ไข ดังนั้นกฎหมายที่บกพร่องสามารถแก้ไขได้โดยเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะเข้ามาแก้ไข เมื่อเปลี่ยนแปลการปกครองมา 90 ปี จะเห็นได้ว่าการปกครองที่ปราชญ์รุ่นใหม่คิดถูกต้องหมดหรือเปล่า หากกฎหมายดีแต่ถ้าคนไม่ดีมาปกครองก็บิดเบือนกฎหมายได้ ดังนั้น ตนขอสรุปว่ากฎหมายที่ดีและคนที่ดีต้องไปด้วยกัน เราจะปกครองบ้านเมืองเพื่อเป็นประโยชน์และยุติธรรมกับประชาชน นอกจากกฎหมายจะตองยุติธรรมแล้ว ผู้ปกครองต้องเป็นคนดีด้วย โดยได้ยกตัวอย่างของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด แต่เมื่อใช้ไปกลับมีปัญหา ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นจากผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายบริหารใช้อำนาจตุลาการเสียเองจึงเกิดปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายทหาร เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เพราะรัฐบาลสมัยนั้น ออกนโยบายเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2544 ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภาคใต้ภายในสามเดือนโดยคิดว่าคนร้ายมีจำนวนไม่มาก เป็นการออกนโยบายที่ผิด เมื่อฝ่ายบริหารทำนอกขอบเขตในที่สุดก็จะเกิดปัญหาและบ้านเมืองจะมีปัญหาตามมา การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ออกกฎหมาย และฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีเสียงข้างมากมีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล การที่จะมีรัฐบาลที่ดีต้องจะต้องมาจากผู้แทนที่ดี ผู้แทนที่ดีต้องมาจากประชาชนที่เลือกตั้งมาด้วยความบริสุทธิ์และไม่ซื้อเสียง ถ้านักการเมืองมาจากการซื้อเสียงก็ย่อมจะมาหาผลประโยชน์ เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้หมด ดังเช่น พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ ต้องส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมือง ประชาชนต้องเลือกคนดีเข้าไปบริหารบ้านเมือง การที่จะทำให้บ้านเมืองพัฒนาไปได้เงื่อนไขอย่างหนึ่งคือคนต้องมีความสุจริต ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้มีหน้าที่รณรงค์เรื่องนี้ตามกฎหมาย แต่ตนเชื่อว่าอย่าดูดายปัญหาส่วนรวม มีอะไรที่จะทำได้ต้องช่วยทำเพื่อแบ่งเบาภาระของประเทศชาติ จึงคิดว่าจะทำโครงการบ้านเมืองสุจริต เพราะถ้าได้นักการเมืองที่ดีจะได้รัฐบาลที่ดี แต่คำว่าการเมืองทำให้เกิดความข้องใจในการเชิญอาจารย์มาร่วมเกี่ยวกับการเรียน จึงเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเมืองสุจริต ประเทศจะรุ่งเรืองเมื่อบ้านเมืองสุจริตประเทศไม่มีชีวิต ชีวิตของประเทศคือคน ดังนั้นประเทศจะรุ่งเรืองบ้านเมืองสุจริต ก็คือคนต้องสุจริต และเราไม่ควรมองข้ามประชาชน เด็ก นักเรียน นิสิต นักศึกษา เพราะสามารถพัฒนาได้ ตนมีฐานะยากจน เมื่อมาเป็นนักการเมืองจึงมีแรงจูงใจอยากให้เด็กนักเรียนทุกคนที่อยู่ในต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา จึงได้ทำโครงการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทำให้ลูกชาวบ้านได้มีโอกาสเรียน นักการเมืองจะเข้าใจชาวบ้านจะต้องมาจากผู้ที่รู้ปัญหาชาวบ้าน และทำโครงการที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน เช่น โครงการอนุบาลชนบท ทำให้เด็กในต่างจังหวัดได้เรียนหนังสือ โครงการนมโรงเรียน เพราะโภชนาการ มีผลต่อพัฒนาการและสรีระของคนทำให้ ผลจากการดื่มนมทำคนไทยมีความสูงขึ้นเฉลี่ย 11 เซนติเมตร จนปัจจุบันเรามีนักวอลเลย์บอลที่เก่งที่สุดในอาเซียน และเมื่อได้รับแคลเซียมตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุมากขึ้นก็จะไม่เป็นโรคกระดูกพรุน การเมืองที่ดีจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศ และตนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา แม้จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไปบ้าง แต่ก็ขอให้เป็นประชาธิปไตยไปอย่างต่อเนื่อง อะไรที่เป็นจุดอ่อนของให้แก้ไข เราไม่สามารถแก้ไขได้ภายในวันเดียว แต่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงได้ เรียนรู้ได้ เพราะคนไทยมีพื้นฐานที่ดี เป็นคนความสามารถเพียงแต่จะปลูกฝังอย่างไรให้มีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์สุจริต ดังนั้น ต้องรณรงค์กันอย่างจริงจัง ประเทศจะรุ่งเรืองเมื่อบ้านเมืองสุจริต คือ เหตุผลที่ว่าประเทศจะพัฒนาได้คนในชาติจะต้องมีความรับผิดชอบ ต้องรู้จักหน้าที่ รู้จักหลักธรรมาภิบาล โครงการนี้ไม่ต้องการให้เปิดสอนรายวิชาใหม่แต่จุดสำคัญคือให้ครูอาจารย์ให้ความสำคัญว่าคำสอนของตนเองลูกศิษย์ย่อมให้การยอมรับ ครูอาจารย์ต้องย้ำให้นักเรียนเชื่อมั่นในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเด็กจะนำไปเผยแพร่ให้กับพ่อแม่พี่น้องเมื่อถึงเวลาเด็กที่มีความซื่อสัตย์สุจริตจะบอกพ่อแม่ไม่ให้ขายเสียง เด็กที่ได้รับการปลูกฝังให้เชื่อมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตในอนาคตอาจจะเป็นผู้นำประเทศหรือเมื่อทำอาชีพอะไรก็จะไม่โกง คนดีเมื่อไปทำตำแหน่งอะไรหรืออยู่ที่ใดที่ตรงนั้นก็จะได้ประโยชน์ สิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้น ถ้าคนที่ไม่เชื่อมั่นความสุจริตไม่สนใจความถูกต้อง ความถูกผิดคนนั้นไปอยู่ที่ไหนก็จะประพฤติอย่างนั้น ดังนั้น เราจึงต้องรณรงค์ให้ทุกคนเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อที่จะได้นำความซื่อสัตย์สุจริตไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป เมื่อมีพื้นฐานเชื่อมั่นในความสุจริต ไม่ว่าจะต่อหน้าและลับหลังคน ๆ นั้นก็จะทำในสิ่งที่สุจริต อย่าดูดายขอให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์ให้เยาวชนเชื่อเรื่องความสุจริต เพราะคนเหล่านี้จะเผยแพร่ความสุจริตไปยังบุคคลอื่น เมื่อวันหนึ่งเด็กเหล่านี้เติบโตไปไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามก็จะเชื่อถือความสุจริตและนำไปเป็นแนวปฏิบัติโดยไม่ต้องมีใครจะสั่ง คนเหล่านี้จะทำหน้าที่ด้วยความซื่อตรง ความสุจริต และความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นเกราะคุ้มกันพวกเราเอง เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนมีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์สุจริต เพราะคนเหล่านี้จะเป็นกำลังของชาติต่อไป ขอให้ทุกคนเชื่อในความซื่อสัตย์สุจริต เพราะสิ่งนี้จะทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง
ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยมหาสารคามมีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2562 สาขาวิชาการบริหารและพัฒนาการศึกษา แด่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายและยึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด ด้วยความเชื่อว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียม จากความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย อย่างยอดเยี่ยม ทำให้นายชวน หลีกภัย ได้รับการเชิดชูเกียรติได้รับปริญญาดุษฎีบัณทิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชานิติศาสตร์และสาขาวิชาอื่น ๆ รวม 18 สถาบัน ด้วยบทบาทหน้าที่ความรู้ความสามารถ และเกียรติประวัติอันแสดงให้เห็นอัจฉริยลักษณ์เป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งในระดับชาติและนานาชาติว่าเป็นผู้มีความรู้ ในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง
กิจกรรมดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดย คณะกรรมการบริหารโครงเสริมสร้างการบ้านเมืองสุจริตจัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้และเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการประพฤติปฏิบัติตนเป็นสุจริตชนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และครูอาจารย์ ตามแนวทางการสร้างบ้านเมืองสุจริต รวมถึงการปลูกฝังค่านิยมการสร้างบ้านเมืองสุจริตให้เป็นบรรทัดฐานการดำรงชีวิตต่อไป ผ่านกระบวนการปลูกจิตสำนึกให้คนมีความซื่อสัตย์สุจริต นอกจากการปาฐกถาพิเศษจากประธานรัฐสภาแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมการเสวนา หัวข้อ ประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต การแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น เยาวชนกับการมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต โดยใช้เทคนิค World Café หรือ สภากาแฟ เพื่อให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น การอภิปรายผลการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น รวมถึงการจัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขควบคู่กับการเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต การประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ และการมอบหนังสือสุจริตชนเพื่อเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|