คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดย พล.ร.อ.อิทธิคมน์ ภมรสูต ร.น. สมาชิกวุฒิสภา พร้อมทั้ง นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ สมาชิกวุฒิสภา และนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ สมาชิกวุฒิสภา เดินทางเข้าร่วมการประชุม ASEAN-Korea Leaders Forum ซึ่งเป็นวาระพิเศษภายใต้การประชุม Jeju Forum 2023 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. 66 ณ เกาะเชจู สาธารณรัฐเกาหลี จัดโดยเขตปกครองพิเศษเกาะเชจู โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม ได้แก่ ผู้แทนสมาชิกรัฐสภาจากประเทศฟิลิปปินส์ ลาว มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และภาคธุรกิจจากประเทศบรูไนและกัมพูชา รวมทั้งผู้แทนจากองค์กรสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly-AIPA) และคณะทูตานุทูต
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 66 เวลา 10.50 น. คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม ซึ่งนาย Oh Yong-hun ผู้นำเขตการปกครองพิเศษเกาะเชจู ได้กล่าวเปิดงานโดยเน้นประเด็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศเกาหลีภายใต้ความร่วมมือภูมิภาคอินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific) ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการให้ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน โดยในการประชุม Jeju Forum 2023 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นความร่วมมือด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคธุรกิจและรัฐสภา
หลังจากนั้น เวลา 13.40 - 16.40 น. คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้เข้าร่วมการอภิปรายประเด็น 2 หัวข้อ ดังนี้ หัวข้อที่ 1 ประเด็นความร่วมมืออาเซียน - เกาหลี ด้านการอำนวยความสะดวกห่วงโซ่อุปทาน : บทบาทของรัฐสภาและภาคธุรกิจ โดยมีผู้อภิปรายหลัก 2 คน ได้แก่ 1) นาย Kwai Sungil หัวหน้าแผนกยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและความมั่นคง สถาบันเกาหลีด้านโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (Korea Institute for International Economic Policy: KIEP) กล่าวถึงประเด็นการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการผูกขาดการส่งออก สิ่งที่ควรตระหนักคือการเพิ่มประเทศคู่เจรจาทางการค้าและการสร้างความร่วมมือทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงรัฐสภา 2) นาย Shin Changok เลขานุการโท กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ได้กล่าวถึงประเด็นการแข่งขันทางการค้าระดับโลก ว่ากลุ่มประเทศอาเซียนมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและมีความร่วมมือกันภายในภูมิภาคอย่างเหนียวแน่น ซึ่งเกาหลีเองก็มีความสนใจและพร้อมที่จะเป็นประเทศคู่ค้ากับประเทศสมาชิกอาเซียน
หลังจากนั้น ได้มีการอภิปรายร่วมกัน โดยทุกประเทศมุ่งเน้นการร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า เช่น การลงทุนด้านโครงสร้างสาธารณะระหว่างประเทศ การขยายตลาดห่วงโซ่อุปทาน การลดอุปสรรคการกีดกันด้านการค้า การลดภาษี เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ภายในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีในอนาคต
หัวข้อที่ 2 ประเด็นความร่วมมืออาเซียน - เกาหลี ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ : บทบาทของรัฐสภาและภาคธุรกิจ มีผู้อภิปรายหลัก 2 คน ได้แก่ 1) Mr. Lee Yoo หัวหน้าแผนกการวิจัยเกี่ยวกับความเป็นกลางทางพลังงานคาร์บอน สถาบันเกาหลีด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (Korea Institute for International Economic Policy: KIEP) ได้กล่าวถึงพลังงานทดแทนน้ำและพลังงานลม ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยส่วนหนึ่งได้กล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่มีแผนการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในภาคธุรกิจ 2) นาย Jung In-sub อดีตประธานบริษัทด้านพลังงาน Hanwha ได้กล่าวเกี่ยวกับความสำคัญในการลงทุนด้านพลังงานและการวางแผนเพื่อความยั่งยืนในอนาคตและนำไปสู่สังคมที่ปราศจากคาร์บอน ตัวอย่างเช่น ในเกาหลีมีบริษัท Hanwha Group ที่สนับสนุนและพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ จากนั้น ได้มีการอภิปรายร่วมกัน โดยทุกประเทศให้ความสนใจในการลงทุนพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการตระหนักถึงการวางแผนการจัดการอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่สังคมปราศจากคาร์บอนและการออกกฎระเบียบเพื่อปราบปรามปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และมีการเน้นประเด็นที่ภาครัฐต้องร่วมลงทุนเพื่อให้ใช้พลังงานสีเขียวในภาคการผลิตอย่างจริงจังในระยะยาว
หลังจากนั้น ที่ประชุมได้มีการรับรองถ้อยแถลงร่วม เน้นว่าการประชุม ASEAN-Korea Leaders Forum เป็นโอกาสในการร่วมมือกันระหว่างรัฐสภาและภาคเอกชน รวมถึงเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนการทำงาน เพื่อก้าวผ่านความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ซึ่งเกาหลีใต้ได้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะด้านการลงทุน ด้านเศรษฐกิจ ด้านพลังงาน ด้านเทคโนโลยี และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างความร่วมมือในอนาคตต่อไป
หลังจากนั้น เวลา 17.10 - 18.00 น. คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้เข้าร่วมการประชุมทวิภาคีกับคณะผู้แทนรัฐสภาเกาหลีใต้ ประกอบด้วยนาย Yoo Sang-bum รองประธานกลุ่มมิตรภาพเกาหลีใต้-ไทย และนาย Seo Sam-seok สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้ โดยได้เน้นประเด็นความร่วมมือด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการค้าและเศรษฐกิจ แรงงาน เทคโนโลยี การค้า ทั้งนี้ ผู้แทนรัฐสภาไทยได้ย้ำ 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ความร่วมมือในการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย 2) ความร่วมมือด้านวิจัยระหว่างสถาบันเพื่อพัฒนาโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 3) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยขอให้เกาหลีเชื่อมั่นและสนับสนุนให้คนในประเทศเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากเป็นการกระตุ้นแหล่งรายได้ท้องถิ่นโดยตรง 4) ความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลต่าง ๆ (Big Data) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล โดยเกาหลีใต้ได้แสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือทุกด้านในอนาคต ทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐสภา
สำหรับงานด้านพิธีการ คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมงานต่าง ๆ ดังนี้ 1. วันที่ 31 พ.ค. 66 เวลา 18.50 - 20.00 น. คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้เข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับ เจ้าภาพโดยคณะกรรมการเตรียมความพร้อมจัดงาน 2. วันที่ 1 มิ.ย. 66 เวลา 12.10 - 13.30 น. ได้เข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวัน เจ้าภาพโดยประธานรัฐสภาสาธารณรัฐเกาหลี และเวลา 18.30 - 20.00 น. ได้ร่วมรับประทานอาหารเย็น เจ้าภาพร่วมโดยประธานกลุ่มมิตรภาพสาธารณรัฐเกาหลีกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
เครดิต : ภาพและข่าวโดยกลุ่มงานสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |